EU เตือนรัสเซียคิดให้ดีหากบุกยูเครน คว่ำบาตรครั้งนี้ราคาแพง

21 ก.พ. 2565 | 20:19 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2565 | 23:52 น.

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเตือน "รัสเซีย" อาจถูกคว่ำบาตรทำให้ต้องตัดขาดจากตลาดการเงินโลกและการเข้าถึงสินค้าบางอย่าง ที่สำคัญต่อการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซียเอง หากยังคิดจะบุกยูเครน

นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของ สหภาพยุโรป (EU) เผยวานนี้ (20 ก.พ.) ถึงรายละเอียดของ มาตรการคว่ำบาตร ที่ รัสเซีย อาจจะต้องเผชิญหากตัดสินใจรุกราน ยูเครน โดยเธอระบุว่า รัสเซียจะโดนตัดขาดจากตลาดการเงินโลกและสินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการ

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้านี้ผู้นำฝั่งตะวันตกไม่เคยเปิดเผยชัดเจนถึงมาตรการตอบโต้ในกรณีที่รัสเซียบุกเข้ายูเครน โดยระบุเพียงว่าจะไม่มีการตอบโต้ทางการทหาร แต่จะใช้มาตรการ “คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน”

เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

"รัสเซียจะถูกตัดขาดจากตลาดการเงินโลก" นางฟอน เดอร์ เลเยนให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เออาร์ดีช่วงค่ำวานนี้ (20 ก.พ.) และยังเสริมว่า จะมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรกับสินค้าจากยุโรปที่รัสเซียจำเป็นต้องใช้ในการทำให้เศรษฐกิจทันสมัยและมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งรัสเซียไม่มีสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนได้

นางฟอน เดอร์ เลเยนยืนยันว่าจะยังไม่มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรจนกว่ารัสเซียจะเปิดฉากรุกรานยูเครน แม้ว่านายโวโลดีเมียร์ ซาเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน จะออกมาเรียกร้องในระหว่างการประชุมความมั่นคงที่เมืองมิวนิกของเยอรมนีเมื่อวันเสาร์ (19 ก.พ.) ให้กลุ่มผู้นำชาติตะวันตกเริ่มคว่ำบาตรรัสเซียเสียที ไม่ต้องรอให้รัสเซียบุกยูเครนก่อน โดยนางฟอน เดอร์ เลเยน ให้เหตุผลว่า "การใช้มาตรการคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบ(ต่อรัสเซีย) อย่างใหญ่หลวง เราจึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้รัสเซียสามารถกลับมาเจรจาหาทางออกได้เสมอ" นอกจากนี้ เธอยังชี้ให้เห็นว่า การที่รัสเซียจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกพลังงานเชื้อเพลิง (ประเภทฟอสซิล) ถือเป็นจุดอ่อนข้อใหญ่ของเศรษฐกิจรัสเซีย

 

 "เชื้อเพลิงฟอสซิลคิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกของรัสเซีย โดยที่งบประมาณของรัสเซียครึ่งหนึ่งมาจากส่วนนี้" นางฟอน เดอร์ เลเยนระบุ โดยเธอชี้ว่า รัสเซียจำเป็นต้องปรับเศรษฐกิจให้ทันสมัย แต่รัสเซียจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้หากถูกคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากชาติตะวันตก

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์หากรัสเซียบุกยูเครนตอนนี้ จะเสียหายน้อยกว่ารอจังหวะเนิ่นนานออกไป

นายร็อบ ลี นักวิเคราะห์ระดับอาวุโสจากสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ (FPRI) กล่าวว่า จากมุมมองของรัสเซียแล้ว การบุกโจมตียูเครนในตอนนี้อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการนิ่งเฉย เพราะหากรัสเซียเลือกถอยตอนนี้ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จะมองว่าการส่งออกอาวุธไปยังยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญ และต้องเสริมการป้องปราบมากขึ้น

 

นายลี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า "นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่า จากมุมมองของรัสเซียแล้ว การนิ่งเฉยรอเวลาเนิ่นนานออกไป มีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าการตัดสินใจบุกตั้งแต่ตอนนี้

 

นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้รัสเซียเลือกบุกยูเครน เพราะปัจจุบันยูเครนมีเทคโนโลยีขีปนาวุธพิสัยไกลที่ยังไม่ก้าวหน้ามากนัก ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ดังนั้น เหตุผลหนึ่งที่รัสเซียอาจมองว่าการดำเนินการในตอนนี้มีต้นทุนน้อยกว่าการรอจังหวะในอนาคตคือ ถ้ายูเครนพัฒนาระบบขีปนาวุธพิสัยไกลได้เป็นผลสำเร็จ นั่นหมายความว่า หากรัสเซียรอบุกโจมตีในอนาคต อาจทำให้ยูเครนเลือกโต้กลับด้วยการโจมตีเมืองต่าง ๆ ของรัสเซีย ลามไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารที่สำคัญ

 

ดังนั้น เขาจึงมองว่ารัสเซียไม่มีทางเลือกมากนัก "ผมคิดว่าเหตุผลที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของรัสเซียในการตัดสินใจดำเนินการ ณ ขณะนี้"

กองทัพรัสเซียลำเลียงพลเข้าใกล้ชายแดนยูเครนมากขึ้น

สำหรับคำถามที่หลายฝ่ายสงสัยว่า ถ้ารัสเซียจะโจมตียูเครน จะทำได้เร็วแค่ไหนนั้น นักวิเคราะห์มองว่า "อาจเกิดขึ้นคืนนี้หรือในอีกไม่กี่วันข้างหน้า" เนื่องจากตอนนี้รัสเซียได้เคลื่อนกองทหารและยุทโธปกรณ์เข้าใกล้ยูเครนมากขึ้น และมีการกระจายกำลังทหารเป็นหน่วยย่อยประชิดเข้ามา

 

ทั้งนี้ รัสเซียได้สั่งสมกำลังทหารนับแสนนายใกล้พรมแดนติดกับยูเครนและในเบลารุสมาเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งคล้ายคลึงกับยุทธศาสตร์ที่เคยใช้เมื่อปีพ.ศ. 2557 ที่รัสเซียเข้าผนวกดินแดนไครเมีย (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน)โดยมิชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้เกิดกระแสต่อต้านจากนานาชาติ และรัสเซียถูกคว่ำบาตรมาระดับหนึ่งตั้งแต่คราวนั้น