G20 ตอกย้ำบทบาทจีน “เจ้าหนี้เบอร์ 1” ยอมพักชำระหนี้กว่า 1.3 พันล้านดอลล์ให้ประเทศยากจน 

23 พ.ย. 2563 | 05:04 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2563 | 13:57 น.
550

จีนผงาดเวที G20 อีกครั้ง สวมบทเจ้าหนี้ใจป้ำอันดับหนึ่งของโลก ที่ยอมเลื่อนการชำระหนี้รวมกว่า 1,300ล้านดอลลาร์ให้กับประเทศยากจน 23 ประเทศทั่วโลก

 

ท่ามกลาง วิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การประชุมระดับผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ปีนี้ที่ซาอุดิอาระเบียเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 21-22 พ.ย.2563 จึงเน้นเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวและการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปด้วยกัน สื่อต่างประเทศรายงานว่า “จีน” ใช้เวทีนี้แสดงบทบาทผู้นำอีกครั้ง ด้วยการประกาศสนับสนุน แผนริเริ่มผัดผ่อนการชำระหนี้สิน (DSSI) สำหรับกลุ่มประเทศยากจนที่สุด ซึ่งเป็นความริเริ่มในเวที G20 เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยจีนเองได้ยอม พักการชำระหนี้ ให้กับบรรดาประเทศยากจนถึง 23 ประเทศ คิดเป็นมูลค่าหนี้รวมกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่ามากที่สุดในบรรดาประเทศเจ้าหนี้ในกลุ่ม G20 ด้วยกัน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวสุนทรพจน์ช่วงหนึ่งระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ณ กรุงริยาด ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ระบุว่า จีนขอสนับสนุนมติของกลุ่ม G20 ที่ได้ต่อเวลาของแผน DSSI ออกไปให้ประเทศลูกหนี้สามารถพักการชำระหนี้ไปได้ถึงกลางปี 2564  พร้อมกันนี้ จีนยืนยันจะเดินหน้าใช้นโยบายดังกล่าวร่วมกับประเทศอื่น ๆ เพื่อช่วยให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นหลังสถานการณ์โควิด

 

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวซินหัวได้รายงานบทสัมภาษณ์นายหลิว คุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของจีนที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กระทรวงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 พ.ย.) ระบุว่า ปัจจุบัน จีนครองอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศ G20 ด้านปริมาณการเลื่อนเก็บหนี้ภายใต้แผนริเริ่มผัดผ่อนการชำระหนี้สิน (DSSI) สำหรับกลุ่มประเทศยากจนที่สุด

 

บรรดาหน่วยงานของจีนที่เป็นเจ้าหนี้ระดับทวิภาคี ซึ่งรวมถึงหน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของจีน (CIDCA) และธนาคารเพื่อการส่งออก-นำเข้าแห่งประเทศจีน (Chexim) ได้ระงับการเรียกเก็บหนี้มูลค่ารวม 1,353 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 40,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ 23 ประเทศยากจนที่เป็นลูกหนี้ของจีน

 

ข้อมูลของกระทรวงการคลังจีนชี้ว่า เฉพาะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน (CDB) ที่เป็นเจ้าหนี้เชิงพาณิชย์ ได้มีการลงนามข้อตกลงหลายฉบับกับกลุ่มประเทศผู้ได้ประโยชน์จากแผนริเริ่มผัดผ่อนการชำระหนี้สิน (DSSI) สำหรับกลุ่มประเทศยากจนที่สุด คิดเป็นมูลค่าหนี้สินรวม 748 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 22,600 ล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนก.ย.2563)

 

ทั้งนี้ กลุ่ม G20 ได้ออกแผนริเริ่มฯ DSSI เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศรายได้ต่ำในการรักษาสภาพคล่องทางการเงินในระยะสั้น หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเพิ่มความเสี่ยงด้านหนี้สิน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จี20 พักชำระหนี้-ให้เงินช่วยชาติยากจน

G20 เตือน เศรษฐกิจโลกหดตัวแรงจากโควิด-19

G20 หารือกระตุ้นเศรษฐกิจโลกถดถอยจากโควิด-19

 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G20 เมื่อเดือนเม.ย.มีมติให้กลุ่มประเทศยากจนที่สุด สามารถพักชำระหนี้ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมาไปจนถึงสิ้นปี 2563 และต่อมา ยังได้มีการขยายระยะเวลาออกไปอีก ให้สามารถพักชำระหนี้ได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. ปีหน้า (2564)

นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก

นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "นี่คือก้าวย่างที่สำคัญในการพัฒนา และผมรู้สึกยินดีที่ได้เห็นการตอบสนองที่สร้างสรรค์จากกลุ่มประเทศเจ้าหนี้ในกลุ่มG20” เขายังกล่าวด้วยว่า ความมุ่งมั่นของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ประกาศออกมานั้น นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

 

"การผ่อนปรนหนี้และความโปร่งใส่ของหนี้สินจะเปิดทางสู่การลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน" ประธานธนาคารโลกกล่าว

 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการแสดงบทบาทผู้นำในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศอื่น ๆ ในการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านรูปแบบของการผ่อนผันการชำระหนี้แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ยังได้ยื่นชุดข้อเสนอแก่กลุ่ม G20 ในประเด็นการรักษาเสถียรภาพและฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมเดินหน้าควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยระบุถึงความจำเป็นในการสร้างกำแพงกันภัย (firewall) ระดับโลกเพื่อต่อต้านโควิด-19

 

"เราต้องเริ่มจากการควบคุมโรคนี้ในแต่ละประเทศให้สำเร็จ แล้วจึงเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ที่อ่อนแอกว่า" ผู้นำจีนยังกล่าวด้วยว่า กลุ่ม G20 ควรเร่งดำเนินการ และให้ความสนับสนุนองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการระดมกำลัง รวบรวมทรัพยากร และกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการลดภาษีและอุปสรรคต่าง ๆ พร้อมส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าสำหรับเวชภัณฑ์ที่สำคัญ

 

ท่าทีของจีนที่เรียกร้องให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ และสนับสนุนการดำเนินงานของ WHO ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือว่าเป็นบทบาทที่โดดเด่นชิงความเป็นผู้นำเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ไม่เพียงระงับการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ WHO แต่ยังกล่าวหาองค์กรดังกล่าวดำเนินนโยบายภายใต้การชี้นำของจีนอีกด้วย

 

แถลงการณ์จากที่ประชุม G20 เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ออกโดยสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลลาซิส อัล ซาอุด ในฐานะประธานการประชุมผู้นำ G20 ครั้งนี้ จึงยิ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ของจีนให้โดดเด่นเป็นพิเศษเมื่อแถลงการณ์ระบุว่า บรรดาผู้นำและองค์กรโลกได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการสานต่อความร่วมมือเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการสนับสนุนประเทศที่อ่อนแอกว่า         

 

"เราจะต้องให้ความสำคัญกับภาคส่วนที่อ่อนแอ โดยให้การสนับสนุนทุกประเทศทั่วโลก เพราะเราคงไม่สามารถอยู่อย่างปลอดภัยได้ จนกว่าทุกคนจะปลอดภัยอย่างถ้วนหน้า" แถลงการณ์ของกลุ่ม G20 ระบุ