"เศรษฐา ทวีสิน" ต้นคิดนโยบายเพื่อไทย "กระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท"

04 ส.ค. 2566 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2566 | 08:24 น.

เปิดประวัติ แนวคิด "เศรษฐา ทวีสิน" ผู้ริเริ่มนโยบายพรรคเพื่อไทย "กระเป๋าเงินดิจิทัล แจกเงิน 1 หมื่นบาท" ที่กำลังอยู่ในเส้นทางลุ้นว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยหรือไม่

ชื่อของ "เศรษฐา ทวีสิน" ขึ้นแท่นเป็นว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ของไทย หลังจากที่พรรคเพื่อไทยมีมติเสนอชื่อ นายเศรษฐา อดีตประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยของ แพทองธาร ชินวัตร ( อุ๊งอิ๊ง ) 

แม้ว่าล่าสุดนายมูฮัมหมัด นอร์มะทา (วันนอร์) จะประกาศเลื่อนวาระโหวตเลือกนายกฯ จากวันที่ 4 สิงหาคมนี้ ออกไปก่อนก็ตาม

แต่ว่าผู้ริเริ่มนโยบายพรรคเพื่อไทย "กระเป๋าเงินดิจิทัล แจกเงิน 1 หมื่นบาท" อย่างนายเศรษฐา ที่ช่วยโกยคะแนนช่วงหาเสียง ยังคงอยู่ในเส้นทางของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 

รู้จัก "เศรษฐา ทวีสิน"

ปัจจุบันอายุ 61 ปี ชื่อเล่น "นิด" เป็นบุตรคนเดียวของ ร.อ.อำนวย ทวีสิน กับ ชดช้อย (สกุลเดิม: จูตระกูล) 

ด้านชีวิตครอบครัว

สมรสกับแพทย์หญิงพักตร์พิไล (สกุลเดิม: ปลัดรักษา) หรือ "หมออ้อม " มีบุตร 3 คน

  • นายณภัทร ทวีสิน  
  • นายวรัตม์ ทวีสิน  
  • นางสาวชนัญดา ทวีสิน 

การศึกษา 

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแคลร์มอนต์ ( Claremont Graduate University) รัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกา ในปี 2529 ได้เข้าทำงานที่ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เป็นเวลา 4 ปี

ก่อนจะย้ายมาทำงานที่ บจก.แสนสำราญ ของ อภิชาติ จูตระกูล ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องโดยภายหลังได้เปลี่ยนชื่อบริษัท เป็น บมจ.แสนสิริ โดยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแห่งนี้

ด้านการเมือง

เดือนพฤศจิกายน 2565

  • เศรษฐา ออกมาประกาศว่าได้สมัครเป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว

เดือนมีนาคม 2566

  • พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งนายเศรษฐาเป็น "ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวของพรรคเพื่อไทย" โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร

เดือนเมษายน 2566

  • นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ขอลาออกจากแสนสิริ โดยไม่รับเงินเดือน พร้อมโอนหุ้นที่เคยถืออยู่ในบริษัทจำนวน 13 แห่งให้บุคคลอื่น รวมถึงบุตรคนเล็กของเขาด้วย

บทบาททางการเมือง

ครั้งแรก ในการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในปี 2556–2557 นายเศรษฐาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมดังกล่าวซึ่งหลังรัฐประหารใน พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งเรียกให้เข้ารายงานตัว ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์

อีกครั้งหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 และเกิดการประท้วงที่นำโดยกลุ่มเยาวชน นายเศรษฐาก็ได้วิจารณ์การบริหารสถานการณ์ดังกล่าวของรัฐบาล

ตอนหนึ่งปรากฎอยู่ในจดหมายเปิดผนึกถึงพนักงานเครือแสนสิริ ลงวันที่ 8 มีนาคม 2566 ของนายเศรษฐานั้น ได้บอกถึงความตั้งใจในทางการเมืองว่า

เขาตั้งใจจะนำประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้มุ่งไปข้างหน้า เร่งพัฒนาให้ประเทศไทยกลับมายิ่งใหญ่ในสายตาประชาคมโลก

ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และโอกาส มุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับคนไทยทุกคน รวมถึงแขกที่มาเยือนจากทั่วโลก

ในขณะที่ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ได้ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง ชูนโยบาย "กระเป๋าเงินดิจิทัล แจกเงิน 1 หมื่นบาท" ให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ไฮไลท์สำคัญของนโยบายจากพรรคเพื่อไทยที่เรียกเสียงฮือฮาได้ในขณะนั้นซึ่งถูกวิพากวิจารณ์ว่า เป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท

ก่อนที่หลังการเลือกตั้ง ทางพรรคเพื่อไทยจะออกมาประกาศชะลอแผนดังกล่าวโดยให้เหตุผลถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณดังกล่าว