หลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา โดยกฎหมายจะมีผลบังคับใช้หลังจากนี้ 120 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการรับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชายและหญิง โดยให้บุคคลสองคนสามารถแต่งงานกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการแก้ไขคำว่า “ชายและหญิง” เป็น “บุคคล” และเรียก “คู่สามี-ภรรยา” เป็น “คู่สมรส”
โดย Google ได้ร่วมเฉลิมฉลองความน่ายินดีนี้ผ่านหน้าแรกของ Search เพราะการประกาศกฎหมายสมรสเท่าเทียมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่จะนำไปสู่อีกก้าวของความเท่าเทียมอื่นๆ ในสังคม
โดยหากย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงวันนี้ การค้นหา “สมรสเท่าเทียม” ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สภาผู้แทนราษฎรไทยได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และวันที่ 18 มิถุนายน ที่วุฒิสภามีมติรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่การค้นหาจะสูงขึ้น
โดยหลังจากมีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ในเวลา 21.00 น. บน Google Trends แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีการค้นหา “สมรสเท่าเทียม” ตั้งแต่เวลา 19.30 - 23.00 น. และอีกครั้งในช่วงเวลา 06.30 น. ของวันที่ 25 กันยายน แสดงว่าผู้คนให้ความสนใจต่อเนื่อง
โดยจังหวัดที่เข้ามาค้นหา “สมรสเท่าเทียม” มากที่สุด 5 อันดับแรก ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ได้แก่ พะเยา, กาญจนบุรี, นนทบุรี, จันทบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ
โดยเมื่อเปรียบเทียบการค้นหาบน Google Trends ย้อนหลังไป 1 ปี ในการยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 9 สิงหาคม 2566 จนถึงวันที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา 24 กันยายน 2567 จะเห็นความสนใจของคนไทยในการค้นหา “สมรสเท่าเทียม” ดังนี้
● 9 สิงหาคม 2566: เปิดประชุมรัฐสภาใหม่ พร้อมยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม
● 21 ธันวาคม 2566: ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม วาระที่ 1 เข้าสู่วาระที่ 2
● 27 มีนาคม 2567: ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม วาระที่ 3
● 18 มิถุนายน 2567: วุฒิสภามีมติรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
● 24 กันยายน 2567: กฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นอกจากคำค้นหา “จดทะเบียนสมรส” ก็พบว่า “สมรสเท่าเทียม ล่าสุด” อยู่ในการค้นหาที่เกี่ยวข้องที่มาแรงเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย “จดทะเบียนสมรส 2567” “ฤกษ์ดี จดทะเบียนสมรส 2567” และ “วันจดทะเบียนสมรส 2567”
ข้อมูลบน Google Trends แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่คนไทยสนใจในช่วงนั้นๆ และเป็นเครื่องมือที่ให้บริการฟรี โดยสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ตั้งแต่ปี 2004