Google เปิดเพจแสดงเทรนด์การค้นหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

27 เม.ย. 2566 | 13:45 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2566 | 14:08 น.

Google จัดทำเพจแสดงเทรนด์การค้นหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคำค้นหาและหัวข้อยอดนิยม และการค้นหาเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้ง 2566 ในครั้งนี้

คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนกว่า 52 ล้านคนทั่วประเทศต่างตั้งตารอที่จะออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม ศกนี้ และในระหว่างนี้ ผู้คนก็ได้ค้นหาข้อมูลบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับพรรคการเมืองและหัวข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ

Google เปิดเพจแสดงเทรนด์การค้นหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ง่ายยิ่งขึ้น Google ได้จัดทำเพจแสดงเทรนด์การค้นหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคำค้นหาและหัวข้อยอดนิยม และการค้นหาเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งครั้งนี้ ไปจนถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ผู้คนในภูมิภาคต่างๆ ของไทยนิยมค้นหาเป็นอันดับต้นๆ อาทิ เช่น เศรษฐกิจ การว่างงาน และค่าแรง ซึ่งสื่อมวลชนสามารถฝังชาร์ตต่างๆ จากหน้าเพจลงในบทความของตนได้ และชาร์ตเหล่านี้จะยังมีการอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าบทความนั้นจะถูกเผยแพร่ออกไปแล้ว 

โดยก่อนหน้านี้ Google News Initiative (GNI) ก็ได้จัดอบรมให้กับสื่อมวลชนและสำนักข่าวต่างๆ ในไทยไปแล้วกว่า 70 รายเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือและบริการของ Google เพื่อประสิทธิภาพและความถูกต้องในการรายงานข่าวการเลือกตั้ง การรายงานข่าวเชิงข้อมูล (Data journalism) รวมถึงการอบรมนโยบายและหลักเกณฑ์ของชุมชน YouTube ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าวการเลือกตั้ง โดย YouTube ประเทศไทย นอกจากนี้ สื่อมวลชนและสำนักข่าวยังได้รับการอบรมเรื่องเครื่องมือในการป้องกันการถูกโจมตีทางออนไลน์ที่มุ่งเป้าไปยังสื่อมวลชนที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งและข่าวการเมือง โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นผู้ให้ความรู้

 

ทั้งนี้ เพจแสดงเทรนด์การค้นหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งประเทศไทยไม่ใช่โพลหรือแบบสำรวจ และไม่ได้แสดงถึงเจตนาในการลงคะแนนเสียง เป็นเพียงการสะท้อนความสนใจค้นหาของผู้คนเกี่ยวกับหัวข้อเฉพาะในระดับท้องถิ่นในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น การพุ่งสูงขึ้นของการค้นหาหนึ่งๆ ไม่ได้สะท้อนว่าพรรคการเมืองนั้น “ได้รับความนิยมมากกว่า” หรือ “จะชนะการเลือกตั้ง” แต่อย่างใด