Payment Platform โจทย์หิน DGA พัฒนาเสร็จทันแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตไตรมาส 4

07 มิ.ย. 2567 | 13:57 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2567 | 14:08 น.

คนไทยคุ้นเคยกับการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ผ่าน QR Code พร้อมเพย์ แอปฯ เป๋าตัง โดยไทยถือเป็นอันดับต้นๆของโลก ที่มีการทำธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ ข้อมูลเวิล์ด แบงก์ ระบุว่าปี 65 ไทยมียอดทำธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ จำนวน 9.7 พันล้านครั้ง ครองอันดับ 3 ของโลก

ล่าสุดเรากำลังจะมีแพลตฟอร์มการชำระเงินใหม่ ที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ราวไตรมาส 4 โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 67 มีมติเห็นชอบให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร.(DGA) เป็นผู้ดำเนิน โครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) ภายใต้กรอบงบประมาณโครงการ รวมเป็นเงิน 95 ล้านบาท

โดยให้หน่วยงานของรัฐและสถาบันการเงินร่วมมือกับ สพร. สนับสนุนข้อมูล และร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป

Payment Platform โจทย์หิน DGA พัฒนาเสร็จทันแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตไตรมาส 4

สำหรับกรอบแนวคิดโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน นั้นประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนกลุ่มต่างๆ เช่น ประชาชนที่เดือดร้อนจากเหตุภัยพิบัติ เกษตรกร และผู้ประกอบธุรกิจด้านการเกษตรสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่าน Government Super Application โดยข้อมูลการร้องขอจะ ถูกส่งไปยังแพลตฟอร์มการชำระเงิน

โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้แอปพลิเคชันของธนาคารหรือแอปพลิเคชันทางการเงินหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์รายใดก็ได้ที่เข้าร่วมโครงการในการชำระเงิน หรือรับชำระเงิน ขณะที่แพลตฟอร์มการชำระเงินสามารถตรวจสอบรายการให้เป็นไปตามกฎหรือกติกาตามที่ภาครัฐกำหนด ทั้งในส่วนผู้ชำระเงินและผู้รับชำระเงิน (Transaction Processing System) โดยธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายในระบบการชำระเงินจะถูกบันทึกและเก็บข้อมูลในรูปแบบการเข้ารหัสผ่านบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยด้านความปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือ

สำหรับขั้นตอนการดำเนิน โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) สำหรับการให้บริการนั้นต้องมีการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของระบบให้บริการ ด้วยการทดสอบการเจาะระบบ (Penetration Test) และประเมินความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบ (Vulnerability Assessment) พร้อมปิดช่องโหว่ของความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

รวมถึงมีการสำรวจและร่วมกันทดสอบระบบการเชื่อมโยงเงินอิเล็กทรอนิกส์กับภาคีเครือข่ายภาค ธุรกิจ สถาบันการเงินต่างๆ ที่สนใจ และจัด ทำสื่อประชาสัมพันธ์ คู่มือวิธีการใช้งาน ในรูปแบบคลิปวิดีโอ อินโฟกราฟิก ทั้งในส่วนของผู้ใช้งานทั่วไป ผู้ประกอบการ หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการเงิน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

ส่วนระยะเวลาดำเนินการใน ระยะแรก จำนวน 160 วัน (ไม่รวมระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้าง) มีระยะเวลาดังนี้ เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2567 จัดซื้อจัดจ้างและประชุมเชิงปฏิบัติการ เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2567 ดำเนินการพัฒนาและทดสอบระบบ และเดือนตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568 ให้บริการระบบและสนับสนุนการใช้งาน

โครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่ต้องเร่งพัฒนาขึ้นมาให้ทันใช้งานในไตรมาส 4 ของปีนี้ ด้วยเงื่อนไขด้านเทคนิคที่ต้องการเป็นระบบเปิด (Open - loop) ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวล ว่าจะสามารถจัดหาผู้พัฒนารระบบ เพื่อ พัฒนาระบบให้ทันเวลาที่กำหนดหรือไม่ อีกทั้งผู้พัฒนาระบบ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี เพื่อให้มีการวางแผนการพัฒนา และการทดสอบระบบที่รัดกุมครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้ระบบมีความมั่นคงปลอดภัย

อีกทั้งผู้ดำเนินการระบบ (Operator) ต้องเตรียมความพร้อมในการรดูแลระบบให้สามารถรองรับการใช้งานจากประชาชนจำนวนมากโดยไม่สะดุด หรือหากเกิดปัญหาสามารถแก้ไขได้รวดเร็ว