เศรษฐา ถก 4 หน่วยงานศก. เคาะงบเพิ่ม 1.22 แสนล้าน เติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต

30 พ.ค. 2567 | 06:43 น.
1.5 k

จับตา นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน นัดหารือ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ วันนี้ (30 พฤษภาคม 2567) เตรียมเคาะกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 อีก 1.22 แสนล้านบาท ใส่โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต

วันนี้ (30 พฤษภาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 13.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เพิ่มเติม) โดยมี 4 หน่วยงานเศรษฐกิจร่วมหารือ ทั้ง กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ในการประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจครั้งนี้ ที่ประชุมจะพิจารณารายละเอียดของ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 หลังจากที่ประชุมครม. เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ซึ่งภายใต้แผนฉบับนี้ ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี 2567 โดยมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท

โดยเหตุผลของการจัดทำ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ มีสาระสำคัญ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของแหล่งวงเงินงบประมาณรองรับโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามนโยบายของรัฐบาล หลังจากกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำหรับรายละเอียดของ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 กำหนดกรอบวงเงิน จัดเก็บรายได้เพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านบาท และกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 1.12 แสนล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมของวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 กรอบวงเงิน 3,602,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 13.1% 

ขณะที่ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ 2,797,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% ขาดดุลการคลัง 805,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้าง 11,988,780 ล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP อยู่ที่ 65.7% ภายใต้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 18,513,465 ล้านบาท โดยในปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วง 2-3% (ค่ากลาง 2.5%) และ GDP Deflator อยู่ที่ 0.8%

ทั้งนี้ภายหลังจากการประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจเสร็จสิ้นแล้ว ภายใต้ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กำหนดว่า คณะกรรมการจะเสนอที่ประชุมครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายวงเงินงบประมาณรายจ่ายและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันที่ 4 มิถุนายน 2567

 

ภาพประกอบข่าว นายกรัฐมนตรี ประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ เตรียมพร้อมงบประมาณในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2567 สำนักงบประมาณ ได้ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เสนอเข้ามาพิจารณา ก่อนจัดทำรายละเอียดรายจ่ายเพิ่มเติมฯ เสนอให้ครม.เห็นชอบและไปรับฟังความคิดเห็น แล้วจึงเสนอครม.อีกครั้ง และจัดพิมพ์ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ รวมถึงเอกสารประกอบงบประมาณ เสนอครม. ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567

เมื่อร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ และเอกสารประกอบงบประมาณ ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนของรัฐสภา เพื่ออนุมัติงบประมาณ ดังนี้

  • วันที่ 17-18 กรกฎาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 1
  • วันที่ 31 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 2 - 3
  • วันที่ 6 สิงหาคม 2567 วุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
  • วันที่ 13 สิงหาคม 2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป