จากกรณีที่เมื่อวานนี้ 1 เมษายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา หรือ สว. ได้บรรจุวาระเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานกรรมาธิการ นำเสนอรายงานเข้าที่ประชุม โดยที่ประชุม สว.ได้สรุปรายงานส่งให้ คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.,ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ไปพิจารณา
วันนี้ 2 เมษายน 2567 ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. กล่าวถึง กรณีที่ประชุมวุฒิสภา มีมติให้ส่งรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. พร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายงานฯของคณะกรรมาธิการฯและ สว. ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป นั้น
" ไม่ได้หนักใจนะต่างคนต่างทำงานเขาก็ทำหน้าที่ของเขา เราก็ทำหน้าที่ของเรา ตนเองอยู่ในตำแหน่งมาประมาณ 2 ปี และกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.ก็ได้ดำเนินการครบถ้วน สมบูรณ์ แล้ว"
ประธาน กสทช. ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การที่ สว.บางคนไม่เห็นด้วย ต้องถามว่า มีอำนาจพิจารณาตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ กสทช.ก็เป็นองค์กรอิสระ การส่งรายงานนั้นเป็นเรื่องรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แต่กลับกลายเป็นความผิดของประธาน เพียงเพราะสิ่งที่เราตีความ ไม่ถูกใจคณะกรรมาธิการฯ
นอกจากนี้ ประธาน กสทช. ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับสาเหตุที่ตนเองไม่ได้เข้าไปชี้แจง เนื่องจาก ประเด็นการสรรหาเลขาธิการกสทช.ยังอยู่ในกระบวนการตัดสินของศาล ซึ่งนางสุรางคณา วายุภาพ หนึ่งในผู้สมัครเลขาธิการกสทช.ฟ้องร้องอยู่ ดังนั้นจึงไม่ควรก้าวล่วง แต่อย่างไรก็ตาม หากทั้ง สตง.หรือ ป.ป.ช.ทำเรื่องให้เข้าไปชี้แจงก็พร้อมจะชี้แจง
ด้าน พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.กิจการกระจายเสียง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านั้นวุฒิสภาก็บอกว่าความล่าช้าในการสรรหาเลขาธิการ กสทช.เป็นความผิดของ บอร์ด กสทช. และได้ขอให้เร่งรัดกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช.ใหม่ ซึ่ง ประธานกสทช. ก็อ้างว่ายังมีเรื่องอยู่ที่ศาล และ ได้บอกไปในที่ประชุมแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถทำได้ การไม่เปลี่ยนตัวรักษาการ และให้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล เป็นรักษาการเลขาธิการ กสทช.อยู่แบบนี้ ทำให้ไม่สามารถประเมินการทำงานได้ ซึ่งเป็นหน้าที่บอร์ด กสทช. ในการประเมิน และ รักษาการเลขาธิการ กสทช. ก็สามารถอยู่ได้ตลอดไป หากรอศาลตัดสิน เพราะระยะเวลาในการตัดสินอาจใช้เวลานานหลายปีก็เป็นได้.