ก้าวต่อไปของเทคโนโลยี AI ทิศทางสำหรับธุรกิจไทย ในปี 2567

13 ม.ค. 2567 | 09:00 น.

ก้าวต่อไปของเทคโนโลยี AI ทิศทางสำหรับธุรกิจไทย ในปี 2567 : บทความโดย...อามิท ซัคซีน่า รองประธานประจำภูมิภาคอาเซียน เซลส์ฟอร์ซ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3956

ปี 2023 ถือเป็นปีแห่งนวัตกรรม AI การเปิดตัว generative AI ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ และใช้ AI มากขึ้น ซึ่งทำให้ AI ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในหัวข้อหลัก เมื่อรัฐบาล หรือ องค์กรขนาดใหญ่พูดถึงการขับเคลื่อนธุรกิจไทย แม้ประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการนำ AI มาประยุกต์ใช้ 

แต่ปี 2024 จะเป็นปีที่ธุรกิจต่าง ๆ สามารถหาวิธีใช้ประโยชน์จาก AI ได้มากขึ้น เพื่อยกระดับองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมพัฒนาการนำเสนอสินค้า และบริการเฉพาะบุคคลให้ตอบโจทย์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

วิธีที่ธุรกิจต่าง ๆ ประยุกต์ใช้ AI จะกลายเป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญในปี 2024 ในการเริ่มต้น ธุรกิจจะต้องสร้างฐานข้อมูลที่มีโครงสร้างเหมาะสมและแข็งแกร่ง รวมถึงบริหารจัดการข้อมูลให้ดีมีระเบียบ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลไปต่อยอด ใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ ๆ ที่มากับ AI ได้

เมื่อความคาดหวัง และการแข่งขันเพิ่มขึ้น ความสามารถในการยกระดับการมีส่วนร่วมของลูกค้าไปสู่อีกระดับหนึ่ง จะกลายเป็นตัวสร้างความแตกต่างที่สำคัญมากขึ้น ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันก็เสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ท่ามกลางการปฏิวัติ AI ธุรกิจในประเทศไทยควรคาดหวังอะไร และจะเตรียมพร้อมรับโอกาสในยุคใหม่ของการทำงานได้อย่างไร

ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจ ประเทศไทยยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 26 ประเทศ และเขตเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย ตามดัชนีชี้วัดประเทศที่มีอิทธิพลในทวีปเอเชีย (Asia Power Index 2023)

นอกจากนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยในปี 2022 ยังโตขึ้นถึง 14% ทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 ล้านล้านบาท

การวางรากฐานสำหรับการนำ AI มาประยุกต์ใช้ของประเทศไทยนั้น ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นหนึ่งในการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่สุดในด้านความพร้อมด้าน AI โดยรวม และของรัฐบาลนับตั้งแต่ปี 2021 

แรงขับเคลื่อนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการปรับปรุงครั้งนี้ คือ การเผยนโยบาย แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570) ซึ่งช่วยเตรียมความพร้อมของประเทศทั้งในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และ ระเบียบสำหรับการใช้ AI เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนา AI อย่างยั่งยืน

เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์, การปรับปรุงการศึกษา, AI เพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI และการส่งเสริมการใช้ AI ในภาครัฐและเอกชน

การปรับปรุงครั้งนี้ เป็นโอกาสทองสำหรับธุรกิจไทย ในการก้าวกระโดด ยกระดับตนเองสู่เวทีโลก โดยธุรกิจจะต้องสร้างแนวทางปฏิบัติเชิงกลยุทธ์สำหรับการใช้ AI จากฐานข้อมูลที่มีโครงสร้างเหมาะสม และเข้าถึงเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้

การฝึกสอน AI และกฎระเบียบสำหรับการนำ AI มาใช้อย่างมีความรับผิดชอบได้ การทำงานร่วมกับที่ปรึกษาดิจิทัล ที่เชื่อถือได้จะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ตระหนักถึงศักยภาพของ AI ได้ง่ายขึ้นในปี 2024

การสร้างกลยุทธ์การใช้ AI ที่มีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของโครงสร้างฐานข้อมูล เพราะท้ายที่สุด AI จะใช้งานได้ดีมากน้อยแค่ไหน นั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่ generative AI ค่อย ๆ พัฒนาจากเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในชีวิตประจำวันของผู้คน บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ด้านข้อมูลให้แข็งแกร่ง เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ให้เต็มที่ องค์กรส่วนใหญ่ในประเทศไทย ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลทั้งหมดของตัวเองอย่างแท้จริง

จากการวิจัยโดย Forrester Consulting พบว่า 73% ของธุรกิจในประเทศไทย ปฏิบัติตัวเหมือนเป็นมือใหม่ด้านข้อมูล ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจมีปริมาณ และความหลากหลายของข้อมูลที่มากเกินไป ดังนั้น ธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีทักษะ วัฒนธรรมองค์กร และ โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม

การปลดล็อกพลังของ AI จะต้องมุ่งเน้นไปที่การจัดเก็บข้อมูลอย่างมีระเบียบและมีประสิทธิภาพ โดยธุรกิจต้องกำจัดข้อมูลแบบไซโล เพื่อสร้างการเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อมต่อ และมีระบบของงานแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน 

อย่างไรก็ตาม การให้ทุกคนในองค์กรมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลนั้น ต้องเป็นไปตามขอบข่ายงานที่รับผิดชอบ โดยมีความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยต่อข้อมูล เป็นปัจจัยที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ 

ในการเริ่มต้น ผู้นำทางธุรกิจ และ ไอทีต่าง ๆ ควรวางกรอบการกำกับดูแลข้อมูล พร้อมกำหนดนโยบายการรวบรวม จัดเก็บ และใช้ข้อมูลให้ดีและครอบคลุม รวมไปถึงดูแล และตรวจสอบข้อมูลผ่านการทำ training data อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความรับผิดชอบ เพื่อเข้าถึงลูกค้าที่ปัจจุบันมีความคาดหวังเพิ่มขึ้นจากธุรกิจ

การแข่งขันเพื่อการเข้าถึงและรักษาลูกค้า ให้มีความรอยัลต่อแบรนด์นั้น มีความเข้มข้นมากขึ้นในปัจจุบัน ธุรกิจจำเป็นต้องมอบประสบการณ์เฉพาะบุคคลทุกช่องทาง ให้แก่ลูกค้าเพื่อสร้างความแตกต่าง

และหากธุรกิจมีโครงสร้างฐานข้อมูลที่เหมาะสมและแข็งแกร่ง การใช้งานข้อมูลผ่าน AI และ CRM ก็สามารถช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้นเพื่อการรักษาลูกค้าในระยะยาว

ขณะที่การปรับตัวทางดิจิทัลเป็นไปอย่างรวดเร็ว ความต้องการโซลูชันเฉพาะอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้น เช่น ในภาคบริการด้านการเงิน แอปพลิเคชันธนาคาร และ แอปพลิเคชันชำระเงินดิจิทัลบนโทรศัพท์มือถือ เป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย 

สถาบันการเงินอยู่ภายใต้แรงกดดันให้นำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ ๆ ที่จะยกระดับการเข้าถึงและความสัมพันธ์กับลูกค้า ในกรณีนี้การนำโซลูชันเฉพาะสำหรับการธนาคารมาใช้จะช่วยเร่งเวลาที่ลูกค้าจะได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์/บริการ (time to value) ทำให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น เช่น ลูกค้ามีผลิตภัณฑ์/ใช้บริการทางการเงินใดอยู่บ้าง และลูกค้าอาจต้องการผลิตภัณฑ์/บริการใดเพิ่มบ้าง

ขณะที่ธุรกิจต่างกำลังหาวิธีการใหม่ ๆ ในการดึงดูดลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แชทบอทก็เป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน แม้ว่าแต่เดิมแชทบอทจะสร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (natural language processing หรือ NLP)                       

แต่ปัจจุบันโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (large language model หรือ LLM) ก็มอบโอกาสในการพัฒนาประสบการณ์การแชทที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า เมื่อการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่กลายเป็นที่สนใจมากขึ้นในประเทศไทย ธุรกิจต่าง ๆ ควรคำนึงถึงอะไรบ้างหากต้องการนำเทคโนโลยีแชตบอทไปประยุกต์ใช้

แม้ว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่จะสามารถสร้างแชทบอตที่สามารถสนทนาขั้นสูงกับผู้ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม แชตบอตทที่สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และสร้างการสนทนาที่เหมาะสมโดยไม่ต้องอาศัยมนุษย์ ในการควบคุมตรวจสอบ ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลความจริง 

ธุรกิจจำเป็นต้องระมัดระวังปัญหาความรับผิดชอบ ที่อาจเกิดขึ้นจากการละเลยดูแลโมเดลภาษาขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลในประเทศไทยค่อย ๆ เพิ่มขึ้น

ใครเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องคำแนะนำที่ลูกค้าได้จากแชทบอท ปัจจุบันยังคงมีความเสี่ยงที่แชทบอทจะให้คำตอบที่ไม่เหมาะสมอยู่มาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องความรับผิดชอบที่ร้ายแรงต่อธุรกิจ ดังนั้นการควบคุมดูแลโดยมนุษย์ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อตรวจสอบ ปรับสมดุล และแก้ไขผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้องที่มาจาก AI 

AI ยังคงสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ภาคธุรกิจของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง บริษัทที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ให้ความสำคัญกับข้อมูล AI, CRM และความไว้วางใจเมื่อวางกลยุทธ์ทางธุรกิจจะประสบความสำเร็จ การก้าวนำหน้าการปฏิวัติ AI ต้องอาศัยมากกว่าการนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาใช้ 

หมายถึงธุรกิจต้องเข้าใจความซับซ้อนของกลยุทธ์ AI แบบองค์รวม ซึ่งรวมไปถึงการสร้างโครงสร้างฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งและเชื่อถือได้ การใช้เครื่องมือที่เชื่อถือได้ การฝึกสอน AI และ การบังคับใช้กฎระเบียบสำหรับการนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างมีความรับผิดชอบ โอกาสนั้นมีอยู่รอบตัว และตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรแล้วว่าจะคว้าไว้อย่างไรในปี 2024