ย้อนปมร้อนมติ กสทช. ควบรวม “TRUE-DTAC” หลังศาลปกครองสูงสุดสั่งรับพิจารณา

30 ต.ค. 2566 | 16:20 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2566 | 18:02 น.
1.7 k

ย้อนปมร้อน มติกสทช.ควบรวม “TRUE-DTAC” ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในวันนี้ 30 ตุลาคม 2566 ให้ ศาลปกครองชั้นต้นรับฟ้องในคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้อง

ในที่สุดวันนี้ 30 ตุลาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องในคดีมูลนิธิผู้บริโภคยื่นฟ้องขอเพิกถอนมติของ กสทช.ที่เกี่ยวเนื่องกับการควบรวมธุรกิจระหว่าง “TRUE-DTAC” รายละเอียดคำสั่งศาลปกครองสูงสุด (คลิกที่นี่) 

ย้อนปมร้อน ควบรวม TRUE – DTAC

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องขอเพิกถอนมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กรณีรับทราบรายงานการควบรวมธุรกิจระหว่าง "TRUE" และ "DTAC" โดยมติเสียงข้างมากเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน

คำสั่งศาลปกครองสูงสุุดสั่งรับพิจารณาควบรวม "TRUE-DTAC"

 

 

บอร์ด กสทช.ไฟเขียวควบรวม “TRUE-DTAC”

เป็นเพราะมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 รับทราบการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC  โดยมติเสียงข้างมากเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน

เมื่อตรวจสอบรายงานการประชุมกสทช.ประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 พบว่า การควบรวม TRUE-DTAC ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระที่  5.1 เรื่อง การรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) (วาระต่อเนื่อง)

 

 

การประชุมครั้งนั้นสํานักงาน กสทช. ได้เสนอเรื่อง การรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) (วาระต่อเนื่อง) ให้ที่ประชุมกําหนดกระบวนการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) และพิจารณาการรวม ธุรกิจว่าส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และกําหนดเงื่อนไขหรือนํามาตรการเฉพาะสําหรับผู้มีอํานาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสําคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ

ที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในประเด็นกระบวนการพิจารณาว่าการรวมธุรกิจกรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันกับ ข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความ ไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดําเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 หรือไม่

เนื่องจากหากการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน เมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอํานาจกําหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561 แต่หากการรวมธุรกิจในกรณีนี้ เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ก็ให้พิจารณาดําเนินการตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําอันเป็นการ ผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 กสทช. อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกําหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อภิปรายเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าการรวมธุรกิจครั้งนี้ส่งผล กระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล เฮิร์ชแมน (HHI) มากกว่า 2500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ

รวมทั้ง มีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ ซึ่งจําเป็นต้องกําหนดเงื่อนไขหรือนํามาตรการเฉพาะสําหรับผู้มีอํานาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสําคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ โดยในการกําหนดเงื่อนไขหรือนํามาตรการเฉพาะมาใช้นั้นต้องมี ความสอดคล้องกับข้อกังวล (Points of concern)

ที่ประชุมยังมีการพิจารณากําหนดข้อกังวล (Points of concern) จํานวน 5 ข้อ ได้แก่ 1) ข้อกังวลเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ 2) ข้อกังวลอุปสรรค การเข้าสู่ตลาด - ขาดประสิทธิภาพการแข่งขัน และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย 3) ข้อกังวลคุณภาพ การให้บริการ 4) ข้อกังวลการถือครองคลื่นความถี่/การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และ 5) เศรษฐกิจของ ประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ําทางดิจิทัล (Digital divide) และได้พิจารณากําหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ

มติที่ประชุม

ที่ประชุมเห็นชอบประเด็นการพิจารณาว่าการรวมธุรกิจกรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของ ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมและให้พิจารณาดําเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 หรือไม่ โดยมีผลของการลงมติดังนี้

ผลการลงมติควบรวม "TRUE" และ "DTAC"

ที่ประชุมเสียงข้างมาก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีมติเห็นว่าการ รวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตาม ข้อ 4 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําอันเป็นการ ผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศฉบับปี 2549) โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศฉบับปี 2561) และให้พิจารณาดําเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการ รวมธุรกิจ และเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอํานาจ กําหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561

ขณะที่ที่ประชุมเสียงข้างน้อย (ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ มีมติเห็นว่ากรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันและให้พิจารณาดําเนินการพิจารณาตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดย กสทช. อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกําหนดมาตรการเฉพาะตาม หมวด 4 ของประกาศดังกล่าว

ขณะที่ กสทช. พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ของดออกเสียง เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหา การตีความในแง่กฎหมายจึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจนจึงของดออกเสียงโดยจะขอทําบันทึกในภายหลัง

เนื่องจากการลงมติที่ประชุมดังกล่าวข้างต้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้น ประธานที่ประชุมได้ดําเนินการตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับ การประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนมติกสทช.ในการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เพราเห็นว่าะเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันกิจการโทรคมนาคม แต่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

30 ตุลาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงาน กสทช.

จากนี้คงต้องติดตามว่าผลการพิจารณาการขอให้เพิกถอนมติกสทช. ในการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะออกมาอย่างไร