“ทรู-เอไอเอส” ชูดิจิทัล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

04 ต.ค. 2566 | 18:26 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2566 | 18:26 น.

บิ๊กเอไอเอส มองดิจิทัลหนุนไทยขึ้นผงาดสู่เวทีโลก แนะ 3 รัฐ ประชาชน ดึงความร่วมมือทุกฝ่ายใช้ดิจิทัลขับเคลื่อน ‘ทรู’ โชว์โมเดล CTPaP เปลี่ยนไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ในงานสัมนา Thailand Economic Outlook  2024 : Change The Future Today ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้รับเกียรติจาก 2 ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของประเทศมาร่วมบรรยายในช่วง ช่วง NEW Growth New Opportunities คือ  นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส หรือ AIS  และ นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอสกล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจปีหน้า จากการสำรวจพบว่า 61% มองว่าอนาคตเศรษฐกิจทั่วโลกยังอ่อนแอ จากปัญหาเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือน  ค่าครองชีพสูงขึ้นมากกว่ารายได้  ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยเติบโตมาก และจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่แค่เฉพาะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่ทุกเซ็กเตอร์จะใช้ดิจิทัลเป็นทางรอดในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยต้องผลักดันดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน ให้มีดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ที่แข็งแกร่ง เพราะในยุคดิจิทัลเป็นโอกาสเดียวที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้  

สิ่งที่เอไอเอสคาดหวังจากภาครัฐและกสทช.คือ อยากให้รัฐเป็นสนับสนุนมากกว่าการกำกับดูแลเพียงอย่างเดียว ขอแค่ให้รัฐบาลวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้แข็งแรง  ออกกฎให้ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่นไปได้ไกล  และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาส่วนส่วมร่วมมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันประชาชนจะมีการใช้ดิจิทัล 22  กิกะไบต์ต่อเดือน แต่ยังใช้ไม่เกิดประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายน้อย ส่วนใหญ่เป็นการใช้เพื่อความบันเทิง

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส

“ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะเราอยู่ในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของชาติ แต่อยากยกตัวอย่างว่า การใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนประเทศไทยมันสำคัญเพียงใด ปัจจุบันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่ 98 ล้านรายคิดเป็นอัตราส่วนต่อจำนวนประชากรที่ 143%

นายสมชัยกล่าวว่า ประชาชนคนไทยเองก็ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้โมบายดาต้าอย่างมหาศาล จากเดิม 5 -10 กิกะไบต์ต่อเดือน เฉลี่ยขึ้นไป 22 กิกะไบต์ต่อเดือน ขณะที่รายได้ของโอเปอเรเตอร์ต่อเลขหมายต่อเดือนอยู่ที่ 200 กว่าบาท แปลว่าคนไทยไม่เคยปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีเลย แต่เราใช้ในเรื่องความบันเทิงเสียเยอะทำให้การใช้งานให้เกิด productivity เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลยังน้อยอยู่หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านนายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ที่ผ่านมา แม้ไทยจะมีอัตราการใช้งานดิจิทัลที่สูง มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ดีและสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลต่อจีดีพีในระดับที่น่าพึงพอใจ แต่การจะสร้างโอกาสอย่างยั่งยืนจากดันเศรษฐกิจดิจิทัลที่อาจเติบโตสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์นั้นประเทศไทยต้องเร่งยกระดับความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลของอุตสาหกรรมต่างๆ และบุคลากร

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)

“ปัจจุบัน ประเทศไทยยังเป็นผู้บริโภคมากกว่าผู้ผลิตในเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้รายได้หลักในระบบนิเวศดิจิทัลไหลไปสู่มือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศนำไปสู่การขาดดุลทางดิจิทัลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทย

ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทยกล่าวคือ เป็น ‘a must’ ที่ต้องทำทันที ไม่ใช่ ‘a choice’ หรือทางเลือกอีกต่อไป ซึ่งการจะเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทย และประเทศไทยสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบให้สำเร็จนั้น จะต้องทำภายใต้โมเดล CTPaP

  • C – Connectivity (การเชื่อมต่อ): บริการการเชื่อมต่อนั้นเป็นตัวกลาง (enabler) สำคัญในการเข้าถึงบริการดิจิทัลและข้อมูลข่าวสารต่าง
  • T – Technology (เทคโนโลยี)ทรู คอร์ปอเรชั่นมุ่งเดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจไทยสู่ความเป็นเทคคอมพานี
  • P – Platform as a Service (บริการแพลตฟอร์มบนคลาวด์) เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มให้สมบูรณ์แบบเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุด
  •  a-Analytics & Artificial Intelligence (การวิเคราะห์และปัญญาประดิษฐ์)คือการเปิดองค์ความรู้จากดาต้าเพื่อเจาะลึกถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งานสู่การสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม อี-กอฟเวอร์เมนท์หรือใช้ insights ที่สามารถออกแบบแผนและแก้ไขปัญหาได้จริง ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มด้วยดิจิทัลไลซ์เซชั่นขององค์กรสู่การเปลี่ยนผ่านใช้ระบบดิจิทัลและเอไอแห่งอนาคตได้
  • P – People (คน) ทรูชี้ชัดว่า “คน” เป็นปัจจัยชี้วัดสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลสำเร็จหรือล้มเหลว การเร่งยกระดับทักษะของพนักงานให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงกลายเป็นวาระเร่งด่วน