หลังจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ได้ประกาศนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ที่ผ่านมาว่า เรื่องแรกที่ดำเนินการ คือ โดยเรื่องแรกที่จะดำเนินการ คือ Go Cloud First ได้วางกรอบในการขยายคลาวด์ ซึ่งเป็นการวางเชิงโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเน้นการสร้าง Public Cloud และ Private Cloud ที่มีมาตรฐานในการดูแลข้อมูลภาครัฐ นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีโครงการดึงบริษัทชั้นนำทั่วโลก เข้ามาลงทุนด้าน Cloud Data Center ในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Hub) ในเรื่องนี้
ล่าสุดวันนี้ 13 กันยายน2566 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า นโยบายในปี 2567 สดช. มี 7 โครงการสำคัญที่เตรียมขยายผลและต่อยอดโครงการต่างๆ ที่วางไว้ เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุม ดังนี้
1.โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ และระบบคลาวด์กลางสาธารณสุขของประเทศ ต่อยอดการให้บริการคลาวด์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ บริการสำหรับระบบงานขั้นสูง บริการสำหรับการจัดเก็บข้อมูลสำคัญของหน่วยงาน, เพิ่มบริการบน GDCC Marketplace ไม่น้อยกว่า 10 บริการ, พัฒนาการใช้งานในรูปแบบ Hybrid Cloud ที่เหมาะสมสำหรับหน่วยงานระดับ Ministry Cloud และ Agency Cloud เช่น คลาวด์ด้านสุขภาพ, ร่วมมือกับผู้ให้บริการภาคเอกชนในการฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐ ที่ใช้บริการ GDCC ให้มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคนิค ในการบริหารจัดการระบบคลาวด์ และด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ปีละไม่น้อยกว่า 200 คน พร้อมทั้งบูรณาการข้อมูลภาครัฐและจัดทำข้อมูลแบบเปิด (Open Data) ของหน่วยงานที่ใช้บริการ GDCC รวมถึงส่งเสริมการใช้บริการให้กับหน่วยงานภาครัฐ
2. โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย เพื่อให้หน่วยบริการสุขภาพสามารถให้บริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลตามมาตรฐาน สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการวินิจฉัย วางแผนการรักษาเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งต่อช่วยให้ยกระดับคุณภาพการให้บริการสุขภาพ สนับสนุนให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ในรูปแบบ Software as a Service อย่างมีมาตรฐาน และมีความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และในกรณีฉุกเฉิน แพทย์ผู้รักษาสามารถดูข้อมูลคนไข้ เพื่อให้การรักษาชีวิตของคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว
3.โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Contribution to GDP) ประจำปี พ.ศ. 2567 มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ผ่านการปรับปรุงรูปแบบ (Framework) การวัดมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเพิ่มความครอบคลุมของนิยามของเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการพยากรณ์มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตผ่านการใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium (CGE) model) ภายใต้หลักเศรษฐมิติ (Econometrics) เพื่อระบุระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลสอดคล้องตามเป้าหมายภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในการเพิ่มสัดส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ภายในปี 2570
4.โครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ปี 2567 ซึ่งจะดำเนินการจัดเก็บและสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ 2567 โดยใช้แนวทางในการจัดเก็บตัวชี้วัดของ OECD และตามบริบทของการพัฒนาประเทศ เพื่อนำข้อมูลที่จัดเก็บและสำรวจได้มาวิเคราะห์ในมิติที่สำคัญ ในการนำไปสู่การเสนอแนวทางในการพัฒนานโยบายด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ให้สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางและมีเป้าหมายที่ทัดเทียมกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญ
5.โครงการยกระดับศูนย์ดิจิทัลชุมชน และการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ขยายการดำเนินงานต่อเนื่อง เพื่อยกระดับศูนย์ ICT ชุมชน เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยมีการพัฒนาระบบนิเวศศูนย์ดิจิทัลชุมชนอย่างยั่งยืน จัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ พร้อมพัฒนาระบบจัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยขยายผลจากความพร้อมด้านการเข้าถึงดิจิทัล การมีอินเทอร์เน็ตสาธารณะชุมชน/ศูนย์ดิจิทัลชุมชน สู่การปั้นคนดิจิทัลในระดับพื้นที่ โครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล หรือ อสด. เพื่อเป็นผู้ช่วยขยายการเข้าถึงการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร พัฒนาทักษะประชากร ภายใต้กรอบสมรรถนะดิจิทัล และช่วยส่งเสริมเพิ่มโอกาสสร้างรายได้สู่พื้นที่ระดับชุมชน ซึ่งได้ทำความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) กลุ่มสภานักเรียนต่างๆ และเจ้าหน้าที่พัฒนาความรู้ของกรมราชทัณฑ์ ฯลฯ รวมแล้วประมาณ 1 แสนคนทั่วประเทศ เข้ามารับการอบรมเป็น อสด. เพื่อที่จะช่วยขยายเครือข่ายเพิ่ม ในอัตรา อสด. 1 คน ต่อการสร้าง อสด.เพิ่มอีก 4 คน ซึ่งจะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องดิจิทัลต่างๆ
6.โครงการ Digital Cultural Heritage หรือโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล โดยการผลักดัน Soft Power ของประเทศไทยในมิติของการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลรูปแบบต่าง ๆ อาทิ สื่อมัลติมีเดีย AR VR แอปพลิเคชัน เกม หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ เป็นต้น โดยการนำสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือสิ่งที่อยู่รอบตัวมาสร้างมูลค่าให้เข้ากับยุคสมัย ให้เข้าใจได้ง่าย และเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงการสร้างเครือข่ายในการส่งเสริมการจัดเก็บข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำมาตรการ หรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม ให้เกิด Soft Power ที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ
7.กองทุนดีอี ในปี 2567 จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกองทุน ด้วยการปรับปรุงระบบสารสนเทศสนับสนุนการทํางานในด้านต่างๆ รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะและการสร้างความเชี่ยวชาญในการทํางานบุคลากรของกองทุน.