เอเปค เดินหน้า โรดแมป AIDER 11 ด้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

18 พ.ย. 2565 | 16:46 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2565 | 23:56 น.

เอเปค เดินหน้าร่วมมือตามโรดแมป AIDER 11 ด้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค ครอบคลุมการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมนวัตกรรม และอีคอมเมิร์ซ

นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะประธานกลุ่มงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเปค (Digital Economy Steering Group : DESG) ได้นำเสนอรายงานต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของเอเปค เกี่ยวกับความคืบหน้าความร่วมมือระดับภูมิภาค ในการขับเคลื่อนการทำงาน ภายใต้แผนที่นำทางการพัฒนาอินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเปค หรือ AIDER (APEC Internet and Digital Economy Roadmap)

เอเปค เดินหน้า โรดแมป AIDER 11 ด้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

โดยระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2565 เอเปค เดินหน้าการทำงานอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อน 11 ประเด็นหลัก ภายใต้โรดแมปของ AIDER ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การวางโครง สร้างพื้นฐานดิจิทัล การส่งเสริมให้ประชากรของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง กำหนดกรอบนโยบายและกฎระเบียบที่เป็น มาตรฐานสากลเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลไปจนถึงการส่งเสริมนวัตกรรม และการค้าผ่านช่องทางดิจิทัลและอี-คอมเมิร์ซ

สำหรับงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลที่ดำเนินการตลอดทั้งปีนี้ ประกอบด้วย 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัล ให้ประชากรทุกกลุ่มเข้าถึงประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านไอซีทีได้อย่างทั่วถึง 2. การสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ในการใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาทั้งด้านภัยธรรมชาติ รวมถึงระบบดิจิทัลเพื่อการตรวจสอบและยืนยันใบรับรองการได้รับวัคซีน Covid-19 ที่เป็นมาตรฐานในกลุ่มสมาชิกเขตเศรษฐกิจ เอเปค ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา 3. การมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ที่เข้าถึงได้อย่างทั่วถึง 4. การพัฒนากรอบนโยบายภาครัฐแบบองค์รวมสำหรับการพัฒนาอินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล

เอเปค เดินหน้า โรดแมป AIDER 11 ด้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

5. การสนับสนุนความร่วมมือในเชิงกฎหมาย กฎระเบียบด้านอินเตอร์เน็ต และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกันด้านกฎหมาย FinTech และการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการยกระดับและเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลของภาคธุรกิจ (RegTech) เป็นต้น

 

6. การสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมและเกิดการประยุกต์ใช้ในด้านเทคโนโลยีและการบริการ ได้แก่ นวัตกรรมด้านการส่งเสริมทางการค้า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การรักษาทางไกล และการแพทย์ดิจิทัล เป็นต้น 7. การยกระดับความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล

8. การอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อข้อมูลอย่างเสรี โดยยังคงคำนึงถึงกฎหมายของแต่ละสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค มุ่งเน้นการเพิ่มความตระหนักของภาคธุรกิจ ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว 9. การพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดด้านอินเตอร์เน็ต และเศรษฐกิจดิจิทัล 10. การยกระดับความเท่าเทียมด้านอินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งเพิ่มทักษะดิจิทัล ส่งเสริมการพัฒนาสตรีให้เข้าสู่ตลาดดิจิทัลมากขึ้น

 

และ 11. การอำนวยความสะดวกการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และสร้างความร่วมมือด้านการค้าดิจิทัล โดยส่งเสริมมาตรการและนโยบาย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านอีคอมเมิร์ซ และการค้าดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“การผนึกกำลังร่วมกันของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ขับเคลื่อนการทำงานในภารกิจข้างต้น จะเป็นการปูทางไปสู่ความสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจ รองรับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเอเปคปูตราจายา 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) ซึ่งจะได้ดำเนินการผ่านแผนปฏิบัติการ Aotearoa ในปีนี้ และสอดคล้องกับแนวคิดหลักของเอเปค 2022 คือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (Open. Connect.  Balance)” นายเอกพงษ์กล่าว