รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมสามหน่วยงาน วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. (IAAI), คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และ วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สจล. กล่าวว่า เทคโนโลยีอวกาศ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยและทั่วโลก เช่น อินเตอร์เน็ต การถ่ายทอดสด การศึกษาทางไกล การแพทย์ทางไกล ระบบจีพีเอส โดรน การติดตามก๊าซเรือนกระจก เฝ้าระวังผลกระทบจาก Climate Change ไฟป่า น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝุ่น PM2.5 เป็นต้น
สจล. มุ่งสู่การเป็น ‘ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีอวกาศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับการวิจัยพัฒนากับนานาชาติ การผนึกกำลังกันของ สจล.และ 5 องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศ ประกอบด้วย 1.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA), 2.สถาบันวิจัยนานาชาติเทคโนโลยีสารสนเทศของญี่ปุ่น (NICT), 3.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), 4.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และ 5.บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) นับเป็นแรงพลังที่เข้มแข็งในการพัฒนางานนวัตกรรมและการเติบโตของ ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ (Space Economy) เพื่อคนไทย เศรษฐกิจไทย และประชาคมโลก ต่อยอดความมั่นคงยั่งยืนของอุตสาหกรรมดิจิทัลและที่เกี่ยวเนื่อง เฝ้าระวังและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม (Climate change) หากประเทศไทยภายใต้รัฐบาลใหม่เริ่มส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศได้เร็วก็สามารถจะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเป็น ‘ฮับอวกาศในอาเซียน’ ได้
สจล. ได้เปิด KMITL Space Hub อย่างเป็นทางการ ภายใต้วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (IAAI) ตั้งอยู่ในพื้นที่วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร เป็นศูนย์เรียนรู้ วิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ เยาวชน จนถึงประชาชนสามารถมาเรียนรู้และเที่ยวชมได้
ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วนสำคัญ คือ
1. สถานีตรวจวัดสภาพอวกาศย่านความถี่สูงมาก (VHF) โดยติดตั้งเรดาร์อวกาศ เมื่อ 17 มกราคม 2563 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (NICT) ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นแห่งแรกในเอเชีย และเป็น 1 ใน 4 จุดที่ตั้งดีที่สุด
2. สถานีตรวจจับการเกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติ (PCMS) พร้อมอุปกรณ์ GNSS เมื่อ 30 เมษายน 2566 โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการติดตาม วิเคราะห์และศึกษาวิจัยภัยพิบัติ
3. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย หรือ ECSTAR ที่วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ เพื่อบูรณาการงานวิจัยนวัตกรรมด้านอวกาศ สจล. ที่มุ่งเน้นด้าน เทคโนโลยีอวกาศต้นน้ำ Upstream เช่น การสร้างดาวเทียม เทคโนโลยีดาวเทียม การปล่อยดาวเทียมสู่อวกาศ การรับ-ส่งสัญญานการควบคุมดาวเทียมในอวกาศ
4. โครงการจัดตั้งสถาบันอวกาศ-โลก และสิ่งแวดล้อม (The Institute of Space-Earth and Environment) หรือ ISEE ที่วิทยาเขตชุมพรฯ มุ่งพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศ Downstream เช่น การถอดรหัสสัญญานการนำข้อมูลสภาพอวกาศย่านความถี่สูง ข้อมูล PCMS หรือข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมนำมาวิเคราะห์ในด้านต่างๆ สิ่งแวดล้อม ภาพถ่ายความคมชัดสูง การดูแลป่าไม้ การจัดการการใช้ที่ดิน และด้านความมั่นคง เป็นต้น
5. ศูนย์ Space Learning Park แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอวกาศสำหรับเยาวชนและประชาชนทุกเพศทุกวัย ได้เข้ามาทัศนศึกษาทำความรู้จักกับอวกาศ ปรากฏการณ์ เทคโนโลยีอวกาศที่นำมาใช้ประโยชน์ต่อมนุษยชาติในด้านต่างๆ เช่น ดาวเทียม จรวด ยานขนส่งอวกาศ สถานีอวกาศ ยานสำรวจอวกาศ รวมทั้งนิทรรศการ กิจกรรม และเวิร์กชอปที่สนุกและได้ความรู้
สำหรับ จุดเด่นของพื้นที่ชุมพร ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศว่าเหมาะกับการเป็น ท่าอวกาศยาน (Spaceport) และการทำงานด้านสำรวจวิจัยอวกาศ นับเป็น 1 ใน 4 จุดใกล้เส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลกที่ดีที่สุดในโลกเท่าที่มีอยู่ นอกเหนือจากแอฟริกา บราซิล และ ฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีความโดดเด่น 5 ประการคือ อยู่ใกล้บริเวณศูนย์สูตรแม่เหล็กโลก มีทะเลขนาบทั้งสองฝั่งซ้าย-ขวา ภูมิศาสตร์แนวชายฝั่งเป็นคาบสมุทร ไม่มีภัยพิบัติที่รุนแรง และมีเส้นทางคมนาคมหลากหลายและเข้าถึงสะดวก