ไทยติดตั้งเครื่องตรวจคุณภาพอากาศเทคโนโลยีอวกาศรายแรกในอาเซียน

21 พ.ค. 2564 | 17:06 น.

ไทยติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพอากาศด้วยเทคโนโลยีอวกาศเป็นที่แรกในภูมิภาคอาเซียน

 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ.ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ดำเนินการติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพอากาศภาคพื้นดิน Pandora  (ground-based remote sensing) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลคุณภาพอากาศจากดาวเทียม สามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศครอบคลุมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยจะทำการติดตั้งเครื่องมือ จำนวน 3 เครื่อง ได้แก่ที่กรุงเทพมหานคร(อาคาร คพ.) จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสงขลา โดยที่ประเทศไทยเป็นการติดตั้งเครื่องมือเป็นที่แรกในภูมิภาคอาเซียน และจะมีการติดตั้งเครื่องมือเพิ่มเติมในอีก 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ สปป.ลาว

ไทยติดตั้งเครื่องตรวจคุณภาพอากาศเทคโนโลยีอวกาศรายแรกในอาเซียน

 

การติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการ “Building the Pan-Asia Partnership for Geospatial Air Pollution information” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิก (เอสแคป) ร่วมกับ National Environment Research Institute (NEIR) และ Korea International Cooperation Agency (KOICA) โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการสนับสนุนและเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน ในการบูรณาการข้อมูลจากอวกาศและภาคพื้นดิน เพื่อการติดตามมลพิษทางอากาศและการปรับปรุงข้อมูลคุณภาพอากาศ ในปี 2021-2023

ไทยติดตั้งเครื่องตรวจคุณภาพอากาศเทคโนโลยีอวกาศรายแรกในอาเซียน

นายอรรถพล ได้กล่าวว่า คพ. และ สอทภ. มีดำเนินการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการติดตามสถานการณ์จุดความร้อนและการเผาในที่โล่ง ความร่วมมือในการพัฒนาระบบบริหารการเผาในที่โล่ง (Burn Check) ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบการใช้งานระบบ และเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2564 ได้มีความร่วมมือในการติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวที่กรุงเทพมหานคร(อาคาร คพ.) พร้อมทั้งได้ทดสอบการเชื่อมโยงระบบเครือข่าย โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งระบบจากประเทศเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกามาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการติดตั้งและเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบออนไลน์

ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยให้เรามีระบบการติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นับเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่ง คพ. มีความยินดีที่จะสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อนำมาแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคตนายอรรถพล กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง