ย้อนปมร้อนดีล “ทรู-ดีแทค” ร่องรอยความแปลกแยก บอร์ด กสทช.

28 มิ.ย. 2566 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2566 | 07:42 น.
611

ย้อนปมร้อนดีล “ทรู-ดีแทค” ร่องรอยความแปลกแยก บอร์ด กสทช. ตอกย้ำความขัดแย้งมติโหวตเสียงข้างมากปลด “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. ยังไร้ผล

ปฏิเสธไม่ได้ บอร์ด กสทช.มีร่องรอยความแปลกแยก อย่างเห็นได้ชัดหลังมีประชุมวาระลับ เมื่อวันที่  9 มิถุนายน 2566 เรื่องการพิจารณารายงานผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จำนวน 600 ล้านบาท โดยใช้เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส.  

บอร์ด กสทช. เสียงข้างมากที่โหวต 4:2:1 เห็นว่า ไม่ปฏิบัติตามกฎ มัสต์แคร์รี่ ( Must Carry ) จึงโหวตให้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ และ รองเลขาธิการ กสทช. หยุดปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งรักษาเลขาธิการ กสทช. แต่สุดท้ายที่ประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา  ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณบุญ ใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.ยืนยันไม่อนุมัติเซ็นต์คำสั่งให้นายไตรรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากการแต่งตั้งเลขาธิการ เป็นดุลยพินิจของประธาน กสทช.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ย้อนปมร้อนร่องรอยความแปลกแยก

ถ้าจำกันได้รอยร้าว บอร์ด กสทช. จำนวน 5 คน คือ

  • ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณบุญ ใบชัยพฤกษ์ ประธาน
  • พล.อากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ  (ด้านกระจายเสียง)
  • ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูตร  (ด้านโทรทัศน์)
  • รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชัลาศัย (ด้านเศรษฐศาสตร์)
  • นายต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านส่งเสริมเสรีภาพประชาชน)

บอร์ด กสทช.

จุดเริ่มต้นมาจากการพิจารณาในเรื่องอำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ว่ามีอำนาจอนุญาต หรือทำได้เพียงแค่รับทราบการควบรวมกิจการ ตามประกาศ กสทช. ปี 2561 ใช้วิธีการโหวตหาข้อสรุป ก่อนที่ประชุมจะมีมติ 2 ต่อ 2 โดยบอร์ดอีก 1 คน งดออกเสียง

เห็นด้วย 2 เสียง

  • ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช.
  • นายต่อพงศ์  เสลานนท์ กรรมการ กสทช.(ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ไม่เห็นด้วย

  • รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช.(ด้านอื่นๆ ที่จะยังเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์)
  • ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูตร กรรมการ กสทช. (ด้านกิจการโทรทัศน์)

 งดออกเสียง

  • ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.(ด้านกิจการกระจายเสียง)

ประธาน กสทช.โหวตดับเบิล

มติโหวตที่ประชุมดังกล่าวข้างต้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้น ประธาน กสทช. จึงได้ใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาดไม่เห็นด้วยแต่แรก

 

ปมควบรวม “ทรู-ดีแทค” กลายเป็นชนวนจุดเริ่มต้นความแปลกแยก บอร์ด กสทช. เห็นได้จากมติบอร์ด กสทช. จำนวนสองคนโหวตไม่เห็นด้วยเพราะกังวลตลาดมือถือผูกขาดธุรกิจ  ส่วนกรณีสนับสนุนฟุตบอลโลก 2022 ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูตร กรรมการ กสทช. เคยให้สัมภาษณ์ชัดเจน ว่า ไม่เห็นด้วยเนื่องจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. มีกองทุนที่เกี่ยวข้องกับกีฬาของตนเองอยู่ น่าจะนำเงินงบกองทุนมาใช้  ไม่ใช่ของ กสทช. เพราะการใช้งบประมาณของ กองทุน กทปส. ไปสนับสนุนอาจจะผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน

คิดต่างคือความสวยงาม

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. เคยให้สัมภาษณ์ ว่า ความคิดเห็นไม่ตรงกัน คือ ความสวยงาม ถ้าทุกคนคิดเห็นตรงกันหมดก็จะถูกมองว่าเผด็จการทางความคิด  บอร์ด กสทช.จำนวน 5 คน ทำงานร่วมกันหนึ่งปี ส่วนอีก 2 คน เพิ่งเข้ามาใหม่ ทุกคนมีไอเดียและมีความคิด เชื่อว่าต่อไปน่าจะดีขึ้น.