เบื้องลึกปลด “ไตรรัตน์” หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขา กสทช.

10 มิ.ย. 2566 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2566 | 18:57 น.
2.7 k

เบื้องลึกมติบอร์ด กสทช. โหวต 4:2:1 ปลด “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” หยุดปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. เซ่นพิษค่าซื้อลิขสิทธิ์จำนวน 600 ล้านบาท ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

กังขามาตลอดจากกรณีที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. อนุมัติเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือ กทปส. ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาท

ย้อนรอยไฟเขียว 600 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

ถ้าจำกันได้ปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ฟีฟ่า จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022  ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พ.ย. – 18 ธ.ค. 2565 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์  แต่ปรากฏว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ไม่มีเงินสนับสนุนเพียงพอที่จะซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จึงมาขอจับเข่าคุยขอเงินสนับสนุนจาก กสทช. ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการคืนความสุขให้กับประชาชน เพื่อถ่ายทอดสดทั้งหมด 64 คู่ โดย กสทช.อนุมัติวงเงิน 600 ล้านบาท จากงบของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทปส.

 

เบื้องลึก “ไตรรัตน์” ถูกปลด

วาระประชุมลับ

เหตุผลที่ นายไตรรัตน์  ถูกบอร์ด กสทช. สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากในวันนี้ บอร์ด กสทช.มีวาระประชุมลับ เรื่องรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เนื่องจาก ไม่ปฏิบัติตามกฎ มัสต์แคร์รี่ ( Must Carry )  คือ  กำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตกิจการทีวีทุกประเภทของ กสทช.ต้องออกอากาศช่องทีวีดิจิตอล นั้นหมายความว่า หากแพลตฟอร์มอื่นที่นำสัญญาณการแพร่ภาพของฟรีทีวีไปเผยแพร่จำเป็นต้องนำไปเผยแพร่ทั้งช่องและทุกรายการ โดยไม่สามารถดัดแปลงหรือทำซ้ำได้ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถรับชมการเผยแพร่กีฬาที่สำคัญของโลกได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

  “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล”

ปมร้อน “ทรูวิชั่นส์” คว้าสิทธิ์ถ่ายทอดสด

ถ้าจำกัดนได้เมื่อวันที่  19 พ.ย.2565 กกท. ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงการสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ระหว่าง กกท. และ ‘กลุ่มทรู’

โดยบันทึกข้อตกลงการสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ฉบับนี้ กกท. ได้ลงนามฯกับ ‘กลุ่มทรู’ ผ่านบริษัทลูก 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด ,บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฯ เป็นเงิน 300 ล้านบาทในแพลตฟอร์มของ ทรูวิชันส์ ทั้งหมด

จนในที่สุด ทรูวิชั่นส์ ทนแรงกดดันจากสมาคมทีวีดจิทัล ที่ยื่นหนังสือต่อ  กสทช.  เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนหลักการจัดสรรช่องถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 หลังกลุ่มทรูวิชั่นส์ได้ถ่ายทอด 32 แมตช์ และสามารถเลือกคู่ถ่ายทอดก่อนได้ จนต้องคืนโควต้าถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายจำนวน 16 นัด กลับมาให้ กกท. นำมาจัดสรรให้กับทีวีดิจิทัลถ่ายทอดสดแบบคู่ขนาน  

ทวงเงินคืน 600 ล้านบาทไม่สำเร็จ

หลังจากถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จบการแข่งขัน ซึ่งบอร์ด กสทช. มีมติทวงเงินคืน 600 ล้านบาท จาก กกท. ถึงวันนี้ กกท.ยังไม่สามารถนำเงินสนับสนุนมาคืนได้

 นั่นจึงเป็นประเด็นปมที่มาที่ บอร์ด กสทช. ลงมติ 4:2:1  ให้ “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัย.