ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดตัวโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (BIOTEC Bioprocessing Facility) หรือ BBF ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการดำเนินงานวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับมาตรฐานระดับสากลอย่าง Codex GHPs และ HACCP รองรับการทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน และงานให้บริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเร่งผลักดันการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG
สำหรับการวิจัย สวทช. ในเฟสแรกได้คัดเลือกงานวิจัย 4 เรื่องหลัก ซึ่งรวมถึง FoodSERP แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชันในรูปแบบ One-stop service เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญเร่งด่วนของประเทศ ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงงานวิจัยที่ใช้ได้จริง
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยตั้งอยู่บนพื้นที่เขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากโดยเฉพาะความหลากหลายทางชนิดของพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ โดยมีจุลินทรีย์ราว 150,000 -200,000 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 8-10 ของจุลินทรีย์ที่คาดว่ามีอยู่ในโลก ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้พบแพร่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ แต่แม้จะมีข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทยก็ยังคงมีปัญหาช่องว่างของนวัตกรรม (Gap in the innovation chain) โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและกำลังคนเชี่ยวชาญ ในการขยายผลการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์เหล่านี้ในระดับอุตสาหกรรม ส่งผลให้การวิจัยไม่สามารถส่งต่อผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์
“โครงสร้างพื้นฐานระดับขยาย (pilot plant) ถือเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยจากความหลากหลายชีวภาพ โดยเฉพาะการนำจุลินทรีย์มาใช้ในระดับอุตสาหกรรม ด้วยกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และมีต้นทุนที่เหมาะสม สำหรับนําไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสําอาง ช่วยแก้ปัญหาคอขวดที่งานวิจัยของประเทศไทยจำนวนมากยังไม่สามารถผลักดันไปสู่การใช้จริงได้ ดังนั้น BBF จึงถือเป็นกลไกหลักที่ช่วยขับเคลื่อน FoodSERP ให้ประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมา BBF ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการมากกว่า 30 บริษัททั้งในและต่างประเทศ”
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวว่า โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค หรือ BBF ถือเป็นหน่วยงานภาครัฐที่บุกเบิกด้านการผลิตผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ทั่วไปและจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม ภายใต้สถานที่ผลิตอาหาร (food-grade manufacturer) ตามมาตรฐานสากล Codex GHPs และ HACCP ที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการต้นน้ำ และกระบวนการปลายน้ำ ตั้งแต่การพัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงเชื้อ กระบวนการหมัก การเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ การทำเข้มข้นหรือการทำบริสุทธิ์ การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบคุณภาพและอายุผลิตภัณฑ์ รวมถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
ทั้งนี้โรงงานดังกล่าวจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ลดการนำเข้าและการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG
ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ไบโอเทค ในฐานะ ผู้บริหารจัดการ โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (BBF) กล่าวว่า BBF ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาภายใต้การทำงานของทีมวิจัยแบบสหสาขาวิชา ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เชิงบูรณาการ โดยผนวกองค์ความรู้พื้นฐานด้านจุลินทรีย์เข้ากับเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมชีวกระบวนการ และเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์
ส่วนการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตเซลล์จุลินทรีย์ สารชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์ และส่วนผสมฟังก์ชั่น ในระดับขยาย โดยมี bioreactor ที่สามารถรองรับการผลิตในรูปแบบ submerged fermentation ขนาด 300 ลิตร และ solid-state fermentation ขนาด 500 กิโลกรัม รวมทั้งเครื่องมือในกระบวนการปลายน้ำและวิเคราะห์ทดสอบที่รองรับการผลิตสำหรับขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ โดยเร็ว ๆ นี้ได้รับงบสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งจะทำให้สามารถขยายกำลังผลิต อยู่ที่ 33,000 ลิตรต่อปี
นอกจากนี้งานวิจัยและนวัตกรรมแล้ว BBF ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มวัตถุเจือปนอาหาร สารอาหาร โปรตีนทางเลือกจากจุลินทรีย์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ฯลฯ เพื่อขยายผลสู่การนำไปใช้จริงในอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนผสมฟังก์ชัน และอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ โดยใช้กลยุทธ์แบบ quick win ในการดำเนินการเชิงรุกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้ประกอบการที่มีมุมมองเชิงธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการทั้งกลุ่ม startup กลุ่ม SME และ กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ (Large enterprise) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ