อาชญากรรมไซเบอร์ของไทยมีแนวโน้มสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นทุกปี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยตัวเลขล่าสุดมากกว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ มูลค่าการลงทุน 27,884 ล้านบาท
ทั้งนี้เป็นผลมาจากคนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ขาดความตระหนักรู้หรือรู้เท่าทันกลโกงมิจฉาชีพที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตลอดเวลา ล่าสุดคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบได้ร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ..... ซึ่งคาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับจะเป็นเครื่องมือสำคัญป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยธนาคารสามารถระงับธุรกรรมผิดปกติ หรือต้องสงสัยได้ทันที
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศษฐกิจและสังคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้มีสถิติแจ้งความออนไลน์ ทั้งซื้อของออนไลน์ หรือ หลอกลงทุน ราววันละประมาณ 800 คดี
ล่าสุด ครม.ได้เห็นชอบร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ..... หลังจากนี้จะนำ พ.ร.ก. ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
โดย พ.ร.ก.ดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญการสกัดกั้นบัญชีม้า โดยธนาคารสามารถอายัดบัญชีที่มีความผิดปกติ หรือ ต้องสงสัยได้ทันที จากเดิมต้องมีการร้องเรียนให้ธนาคารตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาหรือ การป้องกันความเสียหายรวดเร็วขึ้น
มูลค่าความเสียหายภัยไซเบอร์ 3 หมื่นล.
ด้าน พล.ต.อ ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรืออาชญากรรมไซเบอร์ในปัจจุบันมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่หลงกลตกเป็นเหยื่อจนได้รับความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งในบางรายถึงกับต้องสูญเสียชีวิต
จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 – 6 ก.พ. 2566 มีการรับแจ้งความอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 192,031 คดี สถิติคดีแจ้งความ ประมาณ 1,000 รายต่อวัน มูลค่าความเสียหาย 29,546,732,805 บาท สามารถติดตามอายัดบัญชี 65,872 บัญชี อายัดได้ทัน 445,265,908 บาท มีผู้เสียหายสูงสุดมูลค่าถึง 100 ล้านบาท ส่วนคนร้ายได้พัฒนารูปแบบกลโกงหลากหลายไปเรื่อย จึงเป็นสถานการณ์ที่วิกฤต
ส่วนรูปแบบกลโกง 5 อันด้บแรก และที่มากที่สุดคือการหลอกลวงซื้อสินค้า อันดับ 2 เป็นการโอนเงินหารายได้พิเศษ 3.การหลอกให้กู้เงิน 4. คอลเซ็นเตอร์ และ5. เป็นการหลอกให้ลงทุน
“สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงร่วมกับกระทรวงดีอี เสนอออกพระราชกำหนดปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มอำนาจในการสืบสวนสอบสวนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเร่งประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รู้เท่าทัน ซึ่งการร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาชน( Public Private Partnership PPP) เป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพ”
แอปฯ ดูดเงินแล้ว 500 ล้าน
ด้านนายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนแนบเนียนขึ้น และมีเทคนิคที่หลากหลาย ส่งผลให้มีผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 500 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สมาคมธนาคารไทยจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ยกระดับมาตรการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพเพื่อช่วยประชาชน
โดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ True AIS DTAC และ NT ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง LINE ได้ร่วมกันดำเนินการดังนี้ ตรวจสอบปิดไลน์ปลอมของธนาคาร , ควบคุมและจัดการ ชื่อผู้ส่ง SMS (SMS Sender) ปลอม, ปิดกั้น URL ที่เป็นอันตรายและหารือธนาคารสมาชิกพัฒนาระบบความปลอดภัยแชร์เทคนิคและแนวทางป้องกันภัยร่วมกัน เช่น พัฒนาการป้องกันและควบคุม Mobile Banking Application กรณีมือถือมีการเปิดใช้งาน Accessibility Service เพิ่มระบบการพิสูจน์ตัวตน (Authentication) ด้วย Biometrics Comparison
นอกจากนี้ หากร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้ จะช่วยให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทำได้รวดเร็วขึ้น ระงับความเสียหายได้อย่างทันท่วงที สามารถบล็อกบัญชีต้องสงสัยได้ โดยไม่ต้องรอแจ้งความ
AIS เร่งเสริมภูมิคุ้มกันลูกค้า
ด้านนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่าวันนี้พบข้อมูลที่ผู้บริโภคถูกหลอกลวงจากการใช้งานออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้ง ข่าวปลอม ลิงค์ปลอมลวงให้กรอกข้อมูล ร้านค้าออนไลน์ปลอมหลอกขายของ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพราะเพราะมิจฉาชีพมีกลโกงที่นำมาใช้ในการหลอกลวงสารพัดรูปแบบ ทำให้บางครั้งผู้บริโภคไม่ทันระวังกลโกงที่แฝงมากับการใช้งาน เป็นสาเหตุทำให้ผู้คนที่รู้ไม่เท่าทันภัยไซเบอร์ หลงกลโกงจากมิจฉาชีพจนทำให้สูญเสียข้อมูลส่วนตัว เสียเวลา และอาจสูญเสียทรัพย์สินได้”
“AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล ที่วันนี้เรามีภารกิจที่มุ่งทำให้คนไทยใช้งานอินเตอร์เน็ต และสื่อโซเชียลได้อย่างปลอดภัย เราขอเป็นส่วนหนึ่งในการย้ำเตือนสังคม ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ไม่ให้คนไทยต้องตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงจากภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นผ่านโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER ที่มุ่งสร้าง สร้างทักษะให้ลูกค้าและคนไทยเป็นพลเมืองดิจิทัลที่รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ ผ่านการทำงานใน 2 แกนหลักคือ 1) นำเทคโนโลยีมาพัฒนาในรูปแบบของบริการดิจิทัลที่ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ และ 2) สร้างภูมิปัญญา องค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์”
ทรูฯ ตั้งศูนย์ COE รับมือ
ขณะที่นางฐิติรัตน์ ศิริพัฒนาเลิศ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านความปลอดภัยระบบข้อมูลสารสนเทศ บริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จากภัยคุกคามที่มีความหลากหลายและรุนแรงมากขึ้น ทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ครบวงจรของไทย จึงมุ่งพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กรธุรกิจให้สามารถป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายจากการถูกโจมตีระบบ
ล่าสุด ร่วมมือกับ พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ผู้นำระดับโลกด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์และให้บริการลูกค้าหลายพันรายทั่วโลกในทุกกลุ่มธุรกิจ เปิดบริการ “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์” (Center of Excellence หรือ COE) ครั้งแรกในไทย ยกระดับบริการด้านบริหารจัดการระบบความปลอดภัยไซเบอร์ (Managed Security Services) ไปอีกขั้น ผสานเทคโนโลยีและโซลูชันด้านความปลอดภัยไซเบอร์คุณภาพระดับโลกของ พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ เข้ากับความเชี่ยวชาญในการให้บริการไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ ของทรู ดิจิทัล บูรณาการการบริหารจัดการระบบความปลอดภัยไซเบอร์แบบเบ็ดเสร็จ โดยเชื่อมโยงการทำงานของระบบรักษาความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มต่างๆ ขององค์กรแบบไร้รอยต่อ ครอบคลุมบริการทั้งการป้องกันการเข้าถึงระบบเครือข่ายและระบบคลาวด์ รวมถึงการตรวจจับและการตอบสนองภัยคุกคาม เพื่อการจัดการอย่างทันท่วงที ซึ่งนอกจากจะเสริมระบบความปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยในการบริหารจัดการเครือข่ายได้ง่ายขึ้น