เตือนภัย มุกใหม่อ้างบริษัทดังแจกรางวัล สุดท้ายให้โหลดแอปรีโมทดูดเงิน

05 ม.ค. 2566 | 14:48 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2566 | 22:02 น.

รอง โฆษก ตร. เตือนภัย มุกใหม่อ้างบริษัทดังแจกรางวัล สุดท้ายให้โหลดแอปรีโมท ควบคุมโทรศัพท์ทางไกล คลิกเดียวสูญเงินหมดบัญชี แถมเป็นหนี้บัตรเครดิต

วันนี้ (5 ม.ค. 66) ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษก ตร.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เปิดเผยกรณี มีผู้เสียหาย ถูกคนร้ายส่งข้อความ “ขอขอบคุณที่ใช้บริการ จะมอบคูปองฟรีให้ 1 ใบ” ตามลิงก์ที่คนร้ายส่งให้ ผู้เสียหายกดลิงก์แอดไลน์ คนร้ายขอให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน ไลอ้อนแอร์ แล้วพิมพ์ชื่อ นามสกุล ภาษาอังกฤษ และเบอร์โทรศัพท์ จากนั้น คนร้ายบอกว่าให้รอห้ามวางสาย ต่อมาปรากฎว่ามีเงินหายไปหมดบัญชี คนร้ายยังกดเงินจากบัตรเครดิตซึ่งผูกกับ  แอปพลิเคชันธนาคารออนไลน์ สูญเงินทั้งสิ้นกว่า 2 แสนบาท

เตือนภัย มุกใหม่อ้างบริษัทดังแจกรางวัล สุดท้ายให้โหลดแอปรีโมทดูดเงิน

รองโฆษก ตร. กล่าวว่า กรณีดังกล่าวคนร้ายแอบอ้างบริษัทเอกชน ที่มีชื่อเสียงต่างๆส่ง sms แจ้งเหยื่อว่าจะได้รับของรางวัล  หากหลงเชื่อจะหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่สามารถควบคุมมือถือระยะไกล หรือ แอปรีโมท โดยปกติจะมีขั้นตอนของมันเล็กน้อย คนร้ายอาจจะบอกให้เรากรอก ตัวเลข หรือ ตัวอักษรสักชุด หรือไม่ คนร้ายก็หลอกถามเอาตัวเลขชุดนั้นจากเรา เมื่อคนร้ายได้รหัสหรือตัวเลขบางอย่างจากเครื่องของเรา คนร้ายจะนำรหัสไปใช้ในการควบคุมเครื่องของเราได้ทันที สามารถใช้งานบังคับ ทุกอย่างได้ เปรียบเสมือนเป็นเจ้าของเครื่อง ขณะหลอกให้รอห้ามวางสาย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นช่วงดูดข้อมูล จากนั้นคนร้ายจะขอเปลี่ยนรหัสเข้าบัญชีเอง เพราะมีเลข OTP ส่งจากธนาคารมาที่โทรศัพท์ผู้เสียหาย แต่คนร้ายสามารถเห็นได้ที่หน้าจอคนร้ายเอง และจะทำการโอนเงินไปสู่บัญชีเป้าหมายด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องให้เหยื่อโอนเงินให้เหมือนวิธีเดิมๆ ทำให้เหยื่อสูญเงินออกจากบัญชี

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณฯ จึงขอประชาสัมพันธ์ วิธีป้องกันตนเองต่อภัยโจรออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ ในกรณีนี้ สามารถป้องกันได้โดย

1.มีสติ ตรวจสอบข้อความที่ได้รับอย่างระมัดระวัง หากมีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานใดติดต่อหรือแสดงตัว ไม่ว่าเรื่องใดๆ  ให้โทรสอบถามจากเบอร์กลางของหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงนั้นๆ ทุกครั้ง

2.ห้ามกดลิงก์หรือติดตั้งแอปที่ไม่ทราบที่มาที่ไป  รวมถึงไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวใดๆ เมื่อรับสายจากต้นทางที่ไม่ทราบที่มาที่ไปชัดเจน

3.กรณีมีข้อความเลขรหัส เข้าเครื่องโทรศัพท์ไม่ทราบที่มาที่ไป ห้ามเผยแพร่บุคคลอื่นทราบ

4.หากเผลอกดลิงก์ติดตั้งแอปแปลกปลอมดังกล่าว ให้รีบลบ หรือรีเซ็ต เครื่องใหม่ทันที

5. หากหน้าจอโทรศัพท์ค้าง ตามข้อสังเกตข้างต้น ต้องรีบตัดสัญญาณโทรศัพท์เครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น ปิดเครื่อง(หากทำได้) หรือถอดซิม 

รอง โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ สร้างความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มักจะหารูปแบบใหม่ๆมาหลอกลวงประชาชนอยู่เสมอ จึงได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งปราบปรามและหาทางป้องกันอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันศูนย์ PCT มีการเตือนภัยพี่น้องประชาชน รูปแบบกลโกงของคนร้ายรวมทั้งสิ้น 18 วิธี หากสงสัยเกรงจะตกเป็นเหยื่อสามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ และสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่เว็บไซต์