นักวิชาการ ชี้ควบรวม ทรู-ดีแทค ‘กสทช.’ ต้องยึดประกาศปี 61 ประโยชน์สูงสุด

18 ต.ค. 2565 | 11:28 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2565 | 18:40 น.
530

“รุจิระ บุนนาค” วิเคราะห์ประเด็นกฎหมาย กรณีควบรวมทรู-ดีแทค เข้าประกาศปี 2561 “รับทราบ” และ “ออกเงื่อนไข” แนะ กสทช.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับผู้บริโภคและประเทศชาติ เตือนอย่าใช้อำนาจเกินกฎหมายกำหนด

วันนี้ 17 ตุลาคม ดร. รุจิระ  บุนนาค อาจารย์พิเศษ นักวิชาการ และนักกฎหมาย  กล่าวถึงกรณีการควบรวมธุรกิจของ ทรู-ดีแทค ที่ล่าสุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เลื่อนลงมติออกไปเป็นวันที่ 20 ต.ค.65 ในมุมมองของนักกฎหมาย ว่า การควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค เป็นไปตามประกาศ กสทช. พ.ศ. 2561 อย่างชัดเจน คือเป็นการที่สองบริษัทควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ (A+B=C) ซึ่งเป็นกรณีที่เรียกว่า Amalgamation  ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปมีอำนาจ Take Over หรือ ควบคุมในผู้รับใบอนุญาตอีกฝ่าย แต่เป็นการควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่  

 

ตามประกาศจึงไม่ได้กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ยังคงมีอำนาจในการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นกรณีแบบเดียวกับการควบรวม TOT และ CAT เป็น NT หรือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) แต่จะแตกต่างจากการกรณี เอไอเอส เข้าซื้อกิจการ 3BB  ที่เป็นไปตามประกาศ พ.ศ. 2549 เป็นกรณีแบบการเข้าซื้อหรือถือหุ้นของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น โดยถือว่าเป็นกรณีที่แตกต่างกับการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคอย่างสิ้นเชิง จึงไม่สามารถนำกรณีเอไอเอสเข้าซื้อกิจการ 3BB  มาเปรียบเทียบกันได้

“การควบรวม ทรู และ ดีแทค ต้องยึดตามประกาศของกสทช. ปี 2561 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า กสทช.ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุญาต หรือ ไม่อนุญาตการรวบกิจการ แต่มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ สอดคล้องกับผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ กสทช.ได้ให้ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ และ ข้อสรุปของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความเห็นและ ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานทางราชการ ทั้งสองหน่วยงานมีบทสรุปที่สอดคล้องกัน ว่า กสทช. ต้องพิจารณาตามประกาศของ กสทช. พ.ศ. 2561 ดังนั้น กสทช.จึงมีหน้าที่รับทราบเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้มีอำนาจว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวม”

  ดร. รุจิระ  บุนนาค

ดร.รุจิระ ยังกล่าวต่อว่า  ตามประกาศมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ปี 2561 ในข้อ 5 ได้ระบุชัดเจนว่าผู้รับใบอนุญาต หรือ ผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนก่อนการดำเนินการ ซึ่งในส่วนนี้ทางทรูและดีแทคก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว ในขณะเดียวกันหากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องราคาค่าบริการว่าจะสูงขึ้นหรือไม่หลังจากควบรวมกิจการ ในส่วนนี้ตามประกาศข้อ 12 ที่ระบุว่า หากการรวมธุรกิจตามข้อ 5 ส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนี HHI มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 ทางกสทช.สามารถพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมาตราการเฉพาะมาบังคับใช้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการคุมครองผู้บริโภค ด้วยการควบคุมราคาค่าบริการ และที่ผ่านมาค่าบริการโทรศัพท์มือถือได้ลดลงมาตลอด เมื่อเปรียบกับสินค้าอื่น ๆ ที่ราคาสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงของภาวะเงินเฟ้อ และจะเห็นได้ว่าราคาของผู้ให้บริการยังห่างจากเพดานราคาที่กสทช.กำหนดไว้ 10% ซึ่งในกรณีหากราคาสูงกว่าที่กำหนด กสทช. ต้องพิจารณารับผิดชอบดำเนินการเพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป

 

"ดังนั้นการควบรวม ทรู-ดีแทค จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีหากกสทช.ใช้อำนาจเกินกฎหมายในการพิจารณา ประเด็นสำคัญคือ คณะกรรมการ กสทช.ถือเป็น เจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงถูกควบคุมโดยกฎหมายนี้ ตามมาตรา 172 ที่ระบุว่า เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้อาจจะรวมไปถึงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ได้กำหนดความผิดไว้เช่นกันด้วย อย่างไรก็ตามบอร์ด กสทช. ชุดนี้ แตกต่างกับที่ผ่านมา ตรงที่ไม่มีนักกฎหมาย ถูกเลือกเข้ามาเป็น บอร์ด กสทช. เลย จึงไม่มีผู้ที่คอยชี้นำแนวทางที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องควบรวมนี้ ที่การพิจารณาประเด็นด้านข้อกฎหมายซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญมาก” ดร.รุจิระ กล่าว.