นักกฎหมายแจ้งความ “สารี อ๋องสมหวัง” และ “นพ.ประวิทย์”ปล่อยข้อมูล TRUE-DTAC

17 ต.ค. 2565 | 13:36 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2565 | 20:54 น.
991

นักกฎหมายแจ้งความกล่าวโทษ “สารี อ๋องสมหวัง” และ “นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” ปล่อยข้อมูลลับทางราชการ กรณีควบรวม "TRUE-DTAC"

นักกฎหมาย แจ้งความกล่าวโทษอาญา นางสาวสารี อ๋องสมหวัง  เลขาธิการสภาของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค หรือ สอบ.) และ  นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประธานกรรมการ กสทช. และ อดีต กรรมการ กสทช. รวมทั้งเจ้าหน้าที่ กสทช. ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยที่น่าจะได้กระทำความผิด ฐานเผยข้อมูลลับทางราชการ “14 เงื่อนไขควบรวม TRUE-DTAC ” พร้อมเตรียมแจ้งความกล่าวโทษเพิ่มอีกหนึ่งกระทงหลังไม่เข็ด ยังปล่อยข่าวผลการศึกษาที่ปรึกษาที่ไม่รู้ว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ และได้เอกสารมาอย่างไร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

นายไตรรงค์ ตันทสุข นักกฎหมาย ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน เปิดเผยว่าเมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง เพื่อแจ้งความกล่าวโทษเป็นคดีอาญา ให้หาตัวผู้กระทำความผิดโดยมีผู้ต้องสงสัย ได้แก่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค, นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักข่าวที่ลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ทุกสำนัก และ เจ้าหน้าที่ กสทช. ในความผิดฐานเปิดเผยความลับทางราชการ และ บิดเบือนข้อความจริงหรือนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยบันทึกเป็นคดีอาญาเลขที่ 777 / 2565 ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่มีการให้สัมภาษณ์ของนางสาวสารี อ๋องสมหวัง และนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ว่าได้ทราบและรู้เห็นมาตรการเฉพาะภายหลังการควบรวมกิจการทรูและดีแทค หรือ 14 เงื่อนไขก่อนที่บอร์ด กสทช.จะพิจารณาและเปิดเผย

นายไตรรงค์ ตันทสุข

 

 

ซึ่งการกระทำทั้งปวงน่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย จึงนำความไปร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อมอบคดีให้พนักงานสอบสวนสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่กสทช.ประกาศเลื่อนการลงมติการควบรวมกิจการทรู-ดีแทคออกไปเป็นวันที่ 20 ต.ค.65 เพื่อรอผลการศึกษาจากที่ปรึกษาต่างประเทศที่จะมาถึงในวันที่ 14 ต.ค.65  แต่กลับปรากฏว่ามีการเปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาจากที่ปรึกษาต่างประเทศผ่านทางเฟสบุ๊กของนางสาวสารี อ๋องสมหวัง ในเวลาต่อมา และมีการนำไปเผยแพร่ต่อตามสื่อต่าง ๆ ซึ่งไม่รู้ว่าได้เอกสารมาอย่างไร และเป็นเอกสารของจริงหรือไม่ จะต้องมีการตรวจสอบ โดยต่อมารักษาการเลขาธิการ กสทช.ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า สำนักงาน กสทช.ไม่ทราบว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับเอกสารมาจากไหน นายไตรรงค์ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายซึ่งติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค จึงมีความสงสัยติดใจในกระบวนการทำงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของ กสทช. ซึ่งทราบเบื้องต้นว่า ดร.พิรงรอง รามสูต หนึ่งในบอร์ด กสทช.เป็นผู้รับผิดชอบด้านนี้

 

 

“ข้อมูลดังกล่าวทั้งเรื่อง 14 เงื่อนไข และผลการศึกษาจากที่ปรึกษาต่างประเทศ SCF Associates Ltd. ถือเป็นความลับทางราชการ   และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของบอร์ด กสทช. และยังอยู่ในอำนาจหน้าที่ของบอร์ดกสทช.ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการเก็บรักษาข้อมูลความลับเหล่านี้ไว้ให้มั่นคงจากกระทำใดใดให้ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องสามารถล่วงรู้ความลับนี้ก่อนวันได้กำหนดเปิดเผยข้อมูลความลับไม่ได้ การกระทำของ นางสาวสารี และนายแพทย์ประวิทย์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องหรือบุคคลผู้มีหน้าที่ในการเก็บรักษาหรือเข้าถึงความลับนี้ จึงน่าจะมีส่วนในการรู้เห็นหรือร่วมกัน หรือสนับสนุนกันในการนำข้อมูลความลับของทางราชการมาเปิดเผย เพื่อสนับสนุนแนวคิดหรือน่าจะชี้นำในการคัดค้านมีให้มีการควบรวมทรูดีแทค” นายไตรรงค์ กล่าว  และคาดว่าใน 1-2 วันนี้จะยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อกล่าวโทษบุคคลทั้งสองต่อไป จากกรณีที่มีการเผยแพร่ผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ  ซึ่งถือเป็นความผิดฐานเปิดเผยความลับทางราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 , 86 , 164  และบิดเบือนข้อความจริงหรือนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พศ.2550 มาตรา 14

 

นายไตรรงค์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าบุคคลทั้ง 2 ล่วงรู้ข้อมูลลับทางราชการมาจากที่ใด แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ มาโดยตลอดระหว่างการพิจารณาดีลควบรวมทรูดีแทคของ กสทช. ทั้งที่ทั้ง 2 ท่านไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณา ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการจัดทำผลการศึกษา กลับล่วงรู้ข้อมูลความลับในเอกสารลับของทางราชการ และนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่รู้ว่ามีข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน หรือถูกบิดเบือนในลักษณะใดหรือไม่อีกด้วย.