กสทช. จับมือหัวเว่ย ร่วมพัฒนา Giga Thailand เร่งโตเศรษฐกิจดิจิทัล

29 พ.ย. 2564 | 18:04 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2564 | 01:17 น.

กสทช. จับมือ หัวเว่ย เร่งผลักดันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไฟเบอร์ ในงาน “Giga Thailand : Broadband Forum” ภายใต้แนวคิด “โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่าย” หวังยกระดับมาตรฐานใหม่ของประเทศ เสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ มุ่งสู่ดิจิทัลไทยแลนด์

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “เทคโนโลยีไฟเบอร์บรอดแบนด์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล รวมไปถึงการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ การต่อยอดนวัตกรรม และการสร้าง New S-Curve ให้เกิดขึ้นกับทุกภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

กสทช. จับมือหัวเว่ย ร่วมพัฒนา Giga Thailand เร่งโตเศรษฐกิจดิจิทัล

เราต้องเร่งส่งเสริมความครอบคลุมของโครงข่ายไฟเบอร์และยกระดับความเร็วสู่กิกะบิต สถานการณ์ในช่วงสองปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่าบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต มีความสำคัญกับวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก และจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ความร่วมมือในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมพัฒนาขยายโครงข่ายไฟเบอร์ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการเป็นดิจิทัลฮับแห่งภูมิภาคอาเซียน และลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในประเทศ”

ด้านนายไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนทุกคน เทคโนโลยีอย่างบรอดแบนด์ 5G คลาวด์ และ AI เชื่อมต่อสังคมของเราเข้าด้วยกัน ทำให้ทุกคนทำงานจากที่บ้านได้ ทั้งยังเชื่อมต่อเรากับคนที่เรารัก และทำให้เข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย โดยปี พ.ศ. 2565 ที่กำลังจะมาถึงนี้จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ผมเชื่อว่าด้วยความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย เราจะสามารถสร้าง Giga Thailand ที่เชื่อมต่อถึงกันได้อย่างสมบูรณ์แบบและครอบคลุมได้สำเร็จ”

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวเสริมว่า “ความเกี่ยวโยงกันระหว่างเทคโนโลยีทั้งหลายจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สามารถตีความได้ เมื่อนำความหนาแน่นของการเชื่อมต่อของเราไปคูณกับขุมพลังการประมวลผลคอมพิวเตอร์ที่เรามีอยู่ จะทำให้เราเห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการผสมผสานระหว่างการเชื่อมต่อและการประมวลผลจะเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมคมนาคม การเงิน พลังงาน และยังจะช่วยสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสังคมอีกด้วย ทั้งนี้ เครือข่ายไฟเบอร์บรอดแบนด์ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจนไม่ต่างไปจากน้ำกินน้ำใช้หรือกระแสไฟฟ้า ทั้งยังเป็นตัวผลักดันใหม่สำหรับการพัฒนาการเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย”

 

ทางด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวว่า “การเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายไฟเบอร์ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักด้านไอซีทีสำหรับรัฐบาลไทย โดยการพัฒนาของเครือข่าย บรอดแบนด์ของประเทศไทยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนา ซึ่งจะช่วยผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมของรัฐบาลไทย รวมไปถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย”

 

ด้าน ดร. อสุโกะ โอกุดะ ผู้อำนวยการภูมิภาคสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคได้กล่าวว่า “สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นความจำเป็นในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล นั่นหมายถึงการขับเคลื่อนจุดประสงค์และเป้าหมายด้านการเชื่อมต่อภายในปี พ.ศ. 2573 (Connect 2030 Agenda) และการไม่ทิ้งใครเอาไว้เบื้องหลังของ ITU เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ เป้าหมายด้านการเชื่อมต่อภายในปี พ.ศ. 2573 ของเราถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษขององค์การสหประชาชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2573 และเป้าหมายที่ 9 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG9) ซึ่งหมายถึงการสร้างโครงส้รางพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่น ผลักดันการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ทั้งนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลและงานของ ITU ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (SDGs 17) ขององค์การสหประชาชาติได้สำเร็จ”

 

นอกจากนี้ นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังได้กล่าวเสริมว่า “ความท้าทายหลักของเครือข่ายบรอดแบนด์ประเทศไทยก็คืออัตราการเข้าถึงเครือข่ายไฟเบอร์ต่อครัวเรือนยังค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่อาคารเก่าและในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความไม่เท่าเทียมด้านความเร็วอินเทอร์เน็ต และการขาดการจัดการสายเคเบิลโทรคมนาคมอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยจำเป็นจะต้องออกมาตรการเพื่อสนับสนุนด้านการติดตั้งเครือข่ายไฟเบอร์ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายไฟเบอร์จะเป็นตัวผลักดันการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนทำให้เกิดเครือข่ายบรอดแบนด์ความเร็วสูง เทคโนโลยี 5G mmWave และเทคโนโลยีคลาวด์อีกด้วย”

 

ความร่วมมือภายใต้โครงการ Giga Thailand : Broadband Forum มีจุดประสงค์เพื่อการเปิดตัวหนังสือปกขาว Giga Thailand ซึ่งจะรวบรวมคำแนะนำเกี่ยวกับการเร่งขยายเครือข่ายบรอดแบนด์ รวมไปถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนโยบายสำหรับรองรับโครงข่ายไฟเบอร์ในประเทศไทย โดย กสทช. และหัวเว่ยจะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันเครือข่ายไฟเบอร์บรอดแบนด์ใน 3 ด้าน ด้านแรกคือการร่วมมือในการผลักดันเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโครงข่ายไฟเบอร์ให้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของไทยในอนาคต รวมถึงสนับสนุนให้ขยายความครอบคลุมของโครงข่ายไฟเบอร์เพื่อเพิ่มค่าดัชนีความเชื่อมต่อ (connectivity index) ของประเทศไทย ด้านที่สองคือความร่วมมือเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในประเทศไทย และด้านที่สามคือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของไทยเพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ