NIA นำระบบ "โควิดแทร็คเกอร์" ช่วยหมอมอนิเตอร์อาการผู้ป่วยโควิด-19

05 พ.ค. 2564 | 15:04 น.

“เอ็นไอเอ” ร่วมสมาคมเฮลธ์เทคไทยส่งระบบ “โควิดแทร็คเกอร์” ช่วยแพทย์มอนิเตอร์อาการผู้ป่วยโควิด – 19 ในโรงพยาบาลสนาม 1,000 กว่าเตียง เพิ่มมาตรฐานและประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย พร้อมเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่ต้องเข้ารับการรักษา เผยเริ่มนำร่องใช้จริงแล้ว

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “โรงพยาบาลสนาม” หลายฝ่ายยังมีความกังวลถึงประสิทธิภาพในการรองรับผู้ป่วย ทั้งด้านความปลอดภัย การติดตาม การรักษาที่อาจไม่ทั่วถึง คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อ ฯลฯ ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชน NIA จึงได้ร่วมมือกับสมาคมเฮลธ์เทคไทย และบริษัท พรีซีชั่น ไดเอทซ์ จำกัด นำแพลตฟอร์ม “Covid Tracker : โควิดแทร็กเกอร์” เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ภายในโรงพยาบาลสนาม 

NIA นำระบบ \"โควิดแทร็คเกอร์\" ช่วยหมอมอนิเตอร์อาการผู้ป่วยโควิด-19

แพลตฟอร์มนี้เป็นแพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกล ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า มีกลไกการทำงานที่สำคัญคือ ระบบประเมินอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยและรายงานไปยังทีมแพทย์ รวมถึงการติดตามอาการโดยที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องเข้าไปในพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มนำร่องใช้จริงแล้วในโรงพยาบาลสนามทั้งที่อยู่ภายใต้สังกัด อว. และและโรงพยาบาลสนามอื่นที่แสดงความจำนงเข้ามา รวมจำนวน 6 แห่ง ประมาณ 1,200 เตียง โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้แก่ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ศูนย์บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา โรงพยาบาลสนามของสาธารณสุข จังหวัดยะลา โรงพยาบาลสนามศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ทหารอากาศ และหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) โรงแรม บ้านไทย บูทีค (ในความดูแลโรงพยาบาลตากสิน สำนักการแพทย์ กทม.) และจะถูกใช้ไปจนกว่าโรงพยาบาลสนามจะปิดตัวลง หรือจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาด ในประเทศไทยจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการบริษัท พรีซีชั่น ไดเอทซ์ จำกัด กล่าวว่า แพลตฟอร์ม Covid Tracker ได้รับการสนับสนุนจาก NIA ตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปีที่ผ่าน ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ จึงได้ปรับระบบให้รองรับการใช้งานในโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ โดยจะเป็นการทำงานผ่านแพลตฟอร์มเว็บแอปพลิเคชัน (web application) ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวจะได้รับ Password และ Username สำหรับการเข้าใช้งานครั้งแรก โดยผู้ป่วยที่เข้ารับรักษาตัวต้องดำเนินการวัดอุณหภูมิ และรายงานอาการให้พยาบาลและทีมแพทย์ทราบอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งผ่านทางแอปพลิเคชัน หากมีอาการผิดปกติ หรือมีข้อสงสัยสามารถฝากคำถามผ่านระบบสนทนาไปถึงแพทย์ พยาบาล 

NIA นำระบบ \"โควิดแทร็คเกอร์\" ช่วยหมอมอนิเตอร์อาการผู้ป่วยโควิด-19

นอกจากนี้ แพทย์สามารถตรวจหรือสอบถามอาการของคนไข้ผ่านการใช้ระบบการแพทย์ทางไกลด้วยการวิดีโอคอล ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยลดข้อกังวลแก่ผู้ป่วย และลดความเสี่ยงให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าในโรงพยาบาลสนามได้เป็นอย่างดี สำหรับการทำงานและประสิทธิภาพของแพลตฟอร์ม Covid Tracker นั้นระบบออกแบบให้สามารถรองรับการใช้งานพร้อมกันของจำนวนคนไข้หรือการรายงานข้อมูลผู้ป่วยจำนวน ซึ่งขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจาก AWS Cloud ซึ่ง เป็นระบบการประมวลผล เก็บรักษาข้อมูลมีที่ความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งมีคุณภาพ และมีการรับรองการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล 

ที่ผ่านมาได้นำระบบไปติดตั้งและใช้งานในโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และ Alternative State Quarantine (ASQ) หลายแห่ง โดยระบบสามารถรองรับการรายงานจำนวนมากกว่า 300,000 ครั้ง และช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นการรายงานผลผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด รวมถึงลดระยะเวลาในการบันทึกข้อมูล การรวบรวมข้อมูล และการแปลผลข้อมูลสุขภาพและอาการของผู้ป่วยให้กับทีมพยาบาล นอกจากนี้ ระบบยังสามารถติดตามอาการของผู้ป่วยเมื่อออกจากโรงพยาบาลสนามไปกักตัวที่บ้านได้อีกด้วย

NIA นำระบบ \"โควิดแทร็คเกอร์\" ช่วยหมอมอนิเตอร์อาการผู้ป่วยโควิด-19

ด้าน พญ.วรรณิกา แสงสุริย์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลตากสิน ผู้ดูแลตากสินฮอสพิเทล (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ระบุว่า สำหรับ Taksin HOSPITEL อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลตากสิน สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้การบริหารของ พญ.สิรินาถ เวทยะเวทิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากสิน ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลตากสินได้ร่วมมือกับโรงแรมบ้านไทย บูทีค เขตบางกะปิเปลี่ยนโรงแรมเป็นโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 300 ราย และเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยที่สามารถรับการรักษาได้จะต้องเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้าม อายุไม่เกิน 50 ปี มีผลตรวจรังสีทรวงอกปกติ และทุกรายจะต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ที่โรงพยาบาลก่อน 

ทางโรงพยาบาลตากสินได้มีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ ระบบสื่อเทคโนโลยี ระบบเทเลเฮลธ์ต่าง ๆ เพื่อให้แพทย์ พยาบาลสามารถติดตามข้อมูลด้านสุขภาพ และรับรายงานผลตรวจร่างกายจากผู้ป่วยได้ผ่านระบบเทเลเฮลธ์ เช่น การรายงานอุณหภูมิกาย ความดันโลหิต ชีพจร และความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด 

ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้มีการทดลองใช้ระบบเทเลเฮลธ์ “โควิดแทร็กเกอร์” ซึ่งผู้ป่วยจะตรวจวัดค่าสัญญาณชีพด้วยตนเองและรายงานผลผ่านระบบเทเลเฮลธ์ เพื่อให้แพทย์ประเมินการเปลี่ยนแปลง ของอาการได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเนื่องจากการสัมผัสผู้ป่วยได้อีกด้วย จากการใช้งานระบบดังกล่าวพบว่าได้รับผลเป็นที่น่าพอใจต่อบุคลากรที่ปฏิบัติงาน สามารถตรวจพบความผิดปกติของอาการผู้ป่วยได้ทันทีจากข้อมูลที่ผู้ป่วยทุกรายส่งมาทางระบบวันละ 3 ครั้ง นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังช่วยให้การทำงานของบุคลากรมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นนับว่าระบบเทเลเฮลธ์โควิดแทรกเกอร์ ช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรในฮอสพิเทลได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับความต้องการต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการระบาดของโควิดในปัจจุบัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง