‘เอปสัน’ปรับกลยุทธ์ลุย B2B รับตลาดคอนซูเมอร์ฝืด

05 มี.ค. 2564 | 09:00 น.

เอปสัน ปรับกลยุทธ์เจาะลูกค้า B2B หลังตลาดคอนซูเมอร์ฝืด เผยภาพรวมตลาดออนไลน์อุปกรณ์การพิมพ์โตสวนกระแสจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหลังโควิด เดินหน้ากางแผนดิสรัปต์ธุรกิจพรินเตอร์สู่โมเดลบริการเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าปี 64 โตกว่า 10%

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจปีนี้คาดว่าจะติดลบประมาณ 15% เนื่องจากกลุ่มธุรกิจหลักทั้งโปรเจ็กเตอร์และเครื่องพิมพ์ติดลบทั้งหมด ขณะที่ตลาดรวมติดลบ 14% มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท และตลาดไอทีออฟไลน์ (หน้าร้าน) ติดลบ 5% ซึ่งในปี 2564 เอปสันตั้งเป้าที่จะกลับมาเติบโตมากกว่า 10% ด้วยการให้ความสำคัญกับสินค้าในกลุ่มธุรกิจ B2B  จะเห็นว่าในปี 2562 เอปสันมีสัดส่วนของลูกค้า B2B อยู่ที่ 25% และ B2C  75% ซึ่งในปี 2563 ขยับขึ้นมาเป็น 30% และในปีหน้าตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าธุรกิจ B2B เป็น 35% ในกลุ่มสินค้าที่นำไปใช้ในเชิงธุรกิจในองค์กรอย่างเช่นอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง, ธุรกิจเครื่องพิมพ์หน้ากว้าง, หุ่นยนต์แขนกล, ธุรกิจโปรเจ็กเตอร์ความสว่างสูง ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ mass product ซึ่งเป็นธุรกิจที่คาดว่าจะมีการเติบโต และ consumer product น่าจะไม่เติบโตมากอาจทรงตัว โดยทิศทางและกลยุทธ์หลักคือเรื่องของโครงสร้างองค์กร ลูกค้าและการมุ่งเน้นช่องทางออนไลน์ที่จะเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค รวมถึงการสร้างคุณค่าของสินค้า

ทั้งนี้จากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่จีดีพีติดลบถึง 6.1% ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ระบบซัพพลายเชนที่ต้องพึ่งการนำเข้าในหลายธุรกิจหยุดชะงัก ทำให้สินค้าไอทีขาดตลาด แต่ก็ส่งผลกระทบในเชิงบวกเรื่องของเวอร์ชวล มีตติ้ง, อี-คอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม, คลาวด์ เทคโนโลยี, บริการสตรีมมิ่ง, โลคัลไลเซชัน และ เอไอ ออโตเมชัน กลุ่มสินค้าของเอปสันที่ทำผลงานได้ดีในปีที่ผ่านมา ได้แก่ หุ่นยนต์แขนกลที่เอปสันสามารถทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว พรินเตอร์ฉลาก พรินเตอร์อเนกประสงค์ สำหรับธุรกิจรุ่น T-Series เครื่องถ่ายเอกสารอิงค์เจ็ท และพรินเตอร์สำหรับธุรกิจมินิแล็บ ขณะที่พรินเตอร์ใบเสร็จโปรเจ็กเตอร์ และพรินเตอร์ดอทเมทริกซ์ ที่มีฐานลูกค้าหลักเป็น กลุ่มองค์กรธุรกิจ สถาบันศึกษา โรงแรม และธุรกิจค้าปลีก มียอดขายลดลง เพราะลูกค้าต้องหยุดกิจการหรืองดให้บริการชั่วคราว

 

ขณะที่ในส่วนตลาดอิงค์แท็งค์พรินเตอร์ เอปสันยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งที่ 43% ซึ่งทำยอดขายจากช่องทางออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 เช่นเดียวกับตลาดโปรเจ็กเตอร์ที่ยังคงรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดไว้ได้ด้วยส่วนแบ่งตลาด 33% ทั้งนี้ภาพรวมตลาดออฟไลน์ของอุปกรณ์การพิมพ์ ลดลง 22% โดยมูลค่า MFD -21% และพรินเตอร์ -27% สวนทางกับมูลค่าตลาดอุปกรณ์การพิมพ์ออนไลน์ที่เติบโตขึ้น 44% โดย MFD เพิ่มขึ้น 53% และพรินเตอร์ เพิ่มขึ้น 27%

 

‘เอปสัน’ปรับกลยุทธ์ลุย B2B รับตลาดคอนซูเมอร์ฝืด

ยรรยง มุนีมงคลทร

 

“จากการสำรวจความเห็นขององค์กรธุรกิจ พบว่าสิ่งที่บริษัทส่วนใหญ่กังวลคือค่าพิมพ์สีต่อแผ่น คุณภาพงานพิมพ์ และบริการซ่อมบำรุง เอปสันจึงได้ออกบริการเช่าเครื่องแบบใหม่ในชื่อ ‘Epson EasyCare 360 เหมา เหมา’ สามารถพิมพ์สีหรือขาวดำก็ได้ มากสุด 120,000 แผ่น หรือนาน 24 เดือน รวมถึงบริการซ่อมบำรุง โดยมีค่าบริการรายเดือนเริ่มต้นเพียง 790 บาท และได้รับเครื่องที่ใช้ฟรี หลังหมดสัญญา”

 

อย่างไรก็ตามเอปสันได้เตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์เพื่อรุกตลาด B2B ด้วยการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างและกระบวนการทำงานภายในองค์กร พัฒนาศักยภาพของเครือข่ายตัวแทนจำหน่าย มีการขยายทีมขาย B2B ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด รวมถึง ทีมพิเศษที่เน้นเจาะตลาดและดูแลลูกค้าองค์กรญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ซึ่งปีนี้เอปสันจะดิสรัปต์ธุรกิจพรินเตอร์โดยจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากการขายเครื่องไปสู่การให้บริการแบบเต็มตัว รวมถึงมีการสร้าง Epson Virtual Solutions Center เพื่อให้ลูกค้า B2B ได้ทำความรู้จักกับเทคโนโลยีและ B2B โซลูชันของเอปสัน

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,658 หน้า 16 วันที่ 4 - 6 มีนาคม 2564