AI "สั่งการเสียง" มาแรง! 'ไอดีซี' ชี้เทรนด์เทคโนฯ คอนซูเมอร์ ปี 62

13 ม.ค. 2562 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2562 | 07:29 น.
เผยเทรนด์เทคโนโลยีคอนซูเมอร์ไทย ปี 2562 ไอดีซีคาด AI สั่งการด้วยเสียงมาแน่ "กูเกิล แอสซิสแทนต์" ถูกฝังในอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน ทีวี รถยนต์ ขณะที่ กระแสเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้าทีวีผ่านอุปกรณ์ถ่ายทอดสัญญาณมาแรง ส่วนแวร์เอเบิลยังโตรับกระแสรักสุขภาพ เชื่อสมาร์ทโฟนเกมช่องว่างตลาดผู้ผลิตแอนดรอยด์โฟน

เทรนด์เทคโนโลยีที่คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญสำหรับกลุ่มคอนซูเมอร์ไทยในปี 2562 นั้น คงหนีไม่พ้นปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) นอกเหนือจากเป็นหนึ่งในฟังก์ชันถ่ายภาพสมาร์ทโฟนและสั่งการด้วยเสียงในสมาร์ทโฟนไฮเอนด์แล้ว ปี 2562 จะเริ่มเห็นผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะ ที่ชื่อ "กูเกิล แอสซิสแทนต์" AI ค่าย 'กูเกิล' ที่มีความเก่งกาจในด้านการใช้งานภาษาไทยมากสุด ฝังในอุปกรณ์อื่น ๆ นอกเหนือจากสมาร์ทโฟน อาทิ สมาร์ททีวี รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เพื่อทำให้อุปกรณ์เหล่านี้มีความฉลาด รองรับการสั่งการของผู้ใช้ด้วยเสียง ช่วยให้ผู้ใช้สะดวกสบายมากขึ้น อาทิ สั่งปิด-เปิดอุปกรณ์ หรือ เปลี่ยนฟังก์ชันการทำงานของอุปกรณ์


TP11-3434-A

นายวีรเดช พาณิชย์วิสัย ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยอาวุโส บริษัท ไอดีซี รีเสิร์ช (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หนึ่งในเทรนด์เทคโนโลยีที่จะมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของคอนซูเมอร์ในไทย คือ "กูเกิล แอสซิสแทนต์" ที่รองรับการสั่งการด้วยภาษาไทย โดยที่ผ่านมา ในสมาร์ทโฟนมีฟังก์ชันนี้อยู่ แต่คนยังไม่ค่อยรู้เท่าไร แต่จะเริ่มเห็นโอเปอเรเตอร์โปรโมตเพื่อสร้างการรับรู้ในเทคโนโลยี "กูเกิล แอสซิสแทนต์" มากขึ้น ขณะเดียวกันจะเริ่มเห็น "กูเกิล แอสซิสแทนต์" ติดตั้งในอุปกรณ์สมาร์ททีวี เพื่อรองรับการสั่งการเปิด-ปิด เปลี่ยนช่องด้วยเสียง และจะเริ่มเห็นรถยนต์ที่มีฟังก์ชันรองรับการสั่งการด้วยเสียงภาษาไทยมากขึ้น นอกจากแบรนด์ 'เอ็มจี'

อีกหนึ่งในเทรนด์เทคโนโลยีที่น่าสนใจในกลุ่มคอนซูเมอร์ กระแสความนิยมอุปกรณ์ที่ทำให้สมาร์ทโฟนสามารถถ่ายทอดสัญญาณไปยังจอทีวีได้ อาทิ "กูเกิล โครมแคสต์" โดยนิยมในการรับชมเนื้อหาบนยูทูบ หรือ วิดีโอ ออนดีมานด์ อาทิ เน็ตที่มากขึ้น แต่การรับชมผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนอาจไม่ได้อรรถรสการรับชม ทำให้คอนซูเมอร์มีความต้องการอุปกรณ์ถ่ายทอดสัญญาณจากสมาร์ทโฟนไปยังจอทีวี

นอกจากนี้ อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ หรือ แวร์เอเบิล (Wearable) ทั้งสมาร์ทวอชท์, แอปเปิล วอทช์ และวิสต์แบนด์ แวร์เอเบิล ยังคงเป็นอุปกรณ์ที่มีการเติบโตสูงอยู่ ตามเทรนด์สังคมเมือง สังคมสูงอายุ การดูแลสุขภาพ และการออกกำลังกาย

เทรนด์สุดท้ายที่มองว่าจะเห็นมากขึ้นในไทย คือ สมาร์ทโฟนสำหรับเล่นเกม ที่รองรับการเชื่อมต่อเกมแพด แบตเตอรี่อึดใช้งานได้นาน โดยเทรนด์เริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปีนี้จะเริ่มเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนค่ายแอนดรอยด์ อาทิ Rog Phone ค่ายเอซุส, Lazar Phone และออนเนอร์ เพลย์ โดยมองว่า ตลาดเกมยังเป็นช่องว่างให้กับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน

นายวีรเดช กล่าวต่อไปอีกว่า ตลาดคอมพิวเตอร์นั้น คอมพิวเตอร์พกพา หรือ โน้ตบุ๊ก ในปี้นี้มีแนวโน้มการชะลอตัวลง 5-6% เนื่องจากผู้บริโภคมีการเปลี่ยนเครื่องช้าลง ส่วนตลาดคอมพิวเตอร์ในกลุ่มองค์กรนั้น ส่วนใหญ่เน้นการต่อประกันเครื่องจาก 3 ปี เป็น 5 ปี แทนการเปลี่ยนเครื่องใหม่

ส่วนสมาร์ทโฟนในไทยนั้น ตลาดระดับกลางราคา 200-400 ดอลลาร์ หรือประมาณ 6,200-12,400 บาท (คิดที่ 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) นั้น เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ โดยมีสัดส่วน 30% ของตลาดรวม ซึ่งในตลาดดังกล่าว ซัมซุงต้องการชิงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนจากแบรนด์จีน ส่วนในแง่ของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนนั้น จะเริ่มเห็นผู้ผลิตนำฟังก์ชันที่มีในสมาร์ทโฟนระดับบนมาใส่ในสมาร์ทโฟนระดับกลาง โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI เพื่อทำให้มีความฉลาดมากขึ้น

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,434 ระหว่างวันที่ 10-12 มกราคม 2562

595959859