เปิดมติครม. รับทราบรายงาน กสศ.ปี 66 ลุยแก้เหลื่อมล้ำการศึกษา

05 มิ.ย. 2567 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2567 | 11:37 น.

เปิดมติครม.ล่าสุด รับทราบ รายงานประจำปี 2566 ของ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” กับภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เปิดเอกสาร "มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)" เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 มีมติหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ครม.มีมติรับทราบรายงานประจำปี 2566 ของ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)”

ซึ่งกสศ. รายงานว่า ได้ดำเนินภารกิจโดยมุ่งเน้นการ “ร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมเป็นเจ้าของ” กับภาคีทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคเอกชน ซึ่งสอดคล้องตาม “พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 25611” และ แผนกลยุทธ์ของ กสศ. (ปี 2565-2567) โดยมีกลุ่มผู้รับประโยชน์สามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและได้รับการพัฒนาทักษะตนเองตามศักยภาพ รวม 2,909,960 คน-ครั้ง มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ 2 ภารกิจสรุปได้ ดังนี้

ภารกิจสนับสนุนให้เข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ 

เป็นการค้นหาแนวทางจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน และประชากรวัยแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาหรือการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่เหมาะสม สรุปได้ ดังนี้

 

1. เด็กปฐมวัยและเด็กในช่วงชั้นการศึกษาภาคบังคับ (อายุ 3-14 ปี)

กสศ. ร่วมกับ 6 หน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษา ได้แก่  

(1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

(2) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

(3) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.)

(4) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

(5) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

และ (6) สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร

ดำเนินโครงการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา (การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค) เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้เด็กและเยาวชนกลุ่มยากจนพิเศษสามารถเข้าถึงและคงอยู่ในระบบการศึกษา ทั้งนี้ ได้มีการสนับสนุนและส่งเสริมเด็กและเยาวชนในระดับชั้นอนุบาลจนถึงการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล 1-มัธยมศึกษาปีที่ 3) ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส

โดยจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียน จำนวน 2,839,253 คน-ครั้ง ทั้งนี้ ในภาคเรียนที่ 2/2565 พบว่า เด็กร้อยละ 95.95 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนำร่องใน 28 เขตพื้นที่การศึกษา

2.เยาวชนในระบบการศึกษาระดับชั้นสูงกว่าภาคบังคับ (อายุ 15-24 ปี)

มีการช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนกลุ่มเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้ศึกษาต่อในระดับสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับและส่งเสริมการมีงานทำเมื่อสำเร็จการศึกษาโดยเป็นการให้ทุนการศึกษา 3 ประเภท ได้แก่

(1) ทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนที่เรียนดีมีฝีมือได้ศึกษาต่อและมีงานทำทันทีหลังสำเร็จการศึกษา

(2) ทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพหรือทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนที่เรียนดีระดับประเทศได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ

(3) ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ระดับปริญญาตรี เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในเขตพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน โดยมีผู้ได้รับทุนสะสมรวมทั้ง 3 ประเภท 9,991 คน

นอกจากนี้ มีการพัฒนาต้นแบบสถาบันอาชีวศึกษา 105 แห่ง ใน 50 จังหวัด การเตรียมความพร้อมโรงเรียนปลายทางที่บัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่นจะไปบรรจุเป็นครู 1,269 แห่ง ในพื้นที่ 62 จังหวัด และการพัฒนาต้นแบบสถาบันผลิตและพัฒนาครู 19 แห่ง ให้ตรงตามความต้องการของบริบทพื้นที่

 

3.เยาวชนนอกระบบการศึกษาและประชากรวัยแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส (อายุ 15-64 ปี)


มีการยกระดับทักษะให้แก่กลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ และมีการขยายผลการดำเนินงานโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้ขยายการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไปยังศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน จำนวน 21 แห่ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขยายความร่วมมือระดับท้องถิ่นเพื่อพัฒนาระบบดูแลเยาวชนนอกระบบการศึกษา กรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการได้พัฒนารูปแบบการสร้างทักษะการเรียนรู้สำหรับกลุ่มคนพิการ

 

2.ภารกิจมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลง 

เป็นการพัฒนาตัวแบบหรือต้นแบบในการพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ รวมทั้งรูปแบบกลไกการทำงานในระดับพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สรุปได้ ดังนี้

(1) การพัฒนาครู โรงเรียน และสถานศึกษา

มีการดำเนินโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองและการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง โดยได้พัฒนาครู นักจัดการเรียนรู้และบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 19,050 คน จากโรงเรียน 1,270 แห่ง และมีนักเรียนในโรงเรียนได้รับประโยชน์ 127,000 คน นอกจากนี้ ได้ขยายผลการดำเนินงานโดยภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต้นสังกัด ส่งผลให้มีเขตพื้นที่ต้นแบบทางการศึกษาจำนวน 21 เขต และต้นแบบโรงเรียนพัฒนาตนเองใน 10 จังหวัด อีกทั้งได้พัฒนาสมรรถนะครู 685 คน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนร่วมกับ บช.ตชด. เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ

 

(2) การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

มีการพัฒนาตัวแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่อให้การจัดการศึกษามีความสอดคล้องกับปัญหาและบริบทของพื้นที่ ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ดำเนินการมาแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น สุรินทร์ ระยอง สมุทรสงคราม สุราษฎร์ธานี สงขลา และปัตตานี

และเพิ่มเติมอีก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย นครพนม และยะลา

รวมทั้งได้พัฒนาตัวแบบระดับเทศบาล 5 แห่ง ได้แก่ (1) เทศบาลนครยะลา (2) เทศบาลนครตรัง (3) เทศบาลนครอุดรธานี (4) เทศบาลเมืองลำพูน และ (5) กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

 

(3) การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

มีการจัดทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 22 ชิ้นงาน เพื่อตอบโจทย์เชิงนโยบายที่สำคัญของประเทศและมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบรวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น

  • (1) การฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนจากภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19
  • (2) “ห้องเรียนผู้ประกอบการ” นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตทักษะอาชีพร่วมกันระหว่างเครือข่ายโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนนานาชาติ
  • (3) ข้อเสนอแนวทางการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านการศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคของการจัดสรรทรัพยากรไปยังโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกัน

(4) การเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

กสศ. ได้ส่งต่อข้อมูลผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา รวมทั้งร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสถาบันอุดมศึกษาสนับสนุนทุนการศึกษาหรือการช่วยเหลือ  อื่น ๆ แก่นักศึกษา จำนวน 1,780 คน

และร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกแบบและพัฒนาระบบแจ้งเตือนเหตุทางสังคม ESS Help Me (Emergency Social Services) เพื่อส่งต่อข้อมูลและความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมพื้นที่  77 จังหวัด