คนไทยวัยแรงงาน ขาดทักษะพื้นฐาน ฉุดเศรษฐกิจสูญ 3.3 ล้านล้าน

07 มี.ค. 2567 | 05:43 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2567 | 09:35 น.
597

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เปิดข้อมูลน่าห่วง “คนไทยวัยแรงงาน” ขาดทักษะพื้นฐานชีวิต อย่างรุนแรง ปี 2565 เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 3.3 ล้านล้านบาท พร้อมฉายภาพความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสการศึกษาไทย

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยเรื่องทุนมนุษย์ ยุค 5.0 สร้างไทยยั่งยืน ขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องในโอกาสครบรอบ 69 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งถึงเรื่องของประชากรวัยแรงงานของประเทศไทยในมิติความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพ ว่า 

กสศ. ร่วมกับธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจทักษะความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เยาวชนและประชากรวัยแรงงานอายุระหว่าง 15 – 64 ปี กำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลน ทักษะทุนชีวิต (Crisis of Foundational Skills) อย่างรุนแรง 

ทั้งนี้พบว่า กว่า 2 ใน 3 ของวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้น ๆ เพื่อแก้ปัญหาอย่างง่าย 3 ใน 4 ของเยาวชนและวัยแรงงานมีความยากลำบากในการใช้เว็บไซต์เพื่อทำงานง่าย ๆ และกว่า 30% ขาดทักษะในการคิดริเริ่มเพื่อสังคมและความกระตือรือร้น 
โดยการขาดทักษะพื้นฐานดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของ GDP ประเทศไทย ในปี 2565

ดร.ประสาร กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีแต่เฉพาะในกลุ่มเยาวชน และแรงงานเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว วิกฤตทักษะทุนชีวิตได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงวัยที่เป็นเด็กเล็ก ทยอยสะสมความขาดทุนในทุนชีวิตมาอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน 

 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

มิติความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส 

จากข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปีการศึกษา 2566 โดย กสศ. พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 1.8 ล้านคน โดย กสศ. สนับสนุนทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ หรือยากจนระดับรุนแรง (Extremely Poor) จำนวน 1,248,861 คน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ตัวเลขยังไม่แตะหลักล้านคือ 994,428 คน 

ทั้งนี้ความยากจนในระดับรุนแรงนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กในกลุ่มนี้ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้ และจำต้องออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด 
ขณะเดียวกันจากการติดตามข้อมูลเส้นทางการศึกษาของนักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษ ตั้งแต่ปี 2562-2566 มีข้อค้นพบ ดังนี้ 

1.ยิ่งการศึกษาระดับสูง โอกาสที่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะได้เรียนต่อก็ยิ่งลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ

2.ช่วงชั้นรอยต่อทางการศึกษา ถือเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบมากที่สุด เพราะจำเป็นต้องย้ายสถานศึกษาในช่วงเปิดเทอม และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น ค่าธรรมเนียมการสมัครเรียน ค่าเดินทาง หรือค่าเตรียมความพร้อมในการเรียนต่อ

ด้วยเหตุนี้ เด็กนักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษจึงต้องเผชิญกับอุปสรรคจำนวนมาก จนในที่สุดต้องตัดสินใจที่จะไม่ไปต่อในเส้นทางการศึกษาแม้จะมีความต้องการแค่ไหนก็ตาม 

จากการสำรวจยังพบอีกว่า ค่าใช้จ่ายแรกเข้าในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเทอมแรกประมาณ 13,200-29,000 บาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยทั้งปีของสมาชิกครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษ โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ประกอบด้วยค่าสอบ ค่าสมัครคัดเลือก TCAS ค่าแรกเข้า ค่าหอพัก ค่าเครื่องแบบนักศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรก เป็นต้น

 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

ห่วงเด็กปฐมวัยทักษะความเข้าใจการฟังต่ำ

กสศ. ยังร่วมกับคณะผู้วิจัยที่นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการวิจัยหัวข้อ “จุดเริ่มต้นของความขาดทุนในทักษะทุนชีวิต : ปัญหาการขาดแคลนทักษะพื้นฐานในเด็กปฐมวัย” พบว่า

เด็กปฐมวัยไทยมีความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟัง (Listening Comprehension) ในระดับที่น่ากังวล โดยมีเด็กปฐมวัยทั่วประเทศกว่า 25% ที่มีระดับความพร้อมด้านดังกล่าวในระดับที่ต่ำมาก โดยเกือบทุกจังหวัดมีสัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟังในระดับที่ต่ำมากสูงกว่า 15% และมีบางจังหวัด เช่น จังหวัดปัตตานี มีสัดส่วนของเด็กปฐมวัยที่มีระดับความพร้อมด้านดังกล่าวต่ำมากสูงถึง 77%

ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์ข้อมูลควบคู่กับสถานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ยังชี้ให้เห็นว่า เด็กปฐมวัยที่มาจากครัวเรือนยากจนมีแนวโน้มที่จะมีระดับความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาต่ำกว่าเด็กปฐมวัยที่มาจากครัวเรือนที่มีฐานะสูงกว่า สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนเด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการในระดับประถมศึกษาเสียอีก ซึ่งส่งผลต่อการขาดทักษะพื้นฐานในระดับชั้นที่สูงขึ้น

โดยมีข้อมูลจากผลการประเมินนักเรียนในโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ในปี พ.ศ.2565 พบว่ามีนักเรียนไทยที่มีอายุ 15 ปี กว่า 2 ใน 3 ที่มีทักษะการอ่านและทักษะคณิตศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐานที่เด็กในช่วงวัยดังกล่าวจะสามารถเข้าใจและมีส่วนร่วมกับสังคมได้อย่างมีความหมาย เช่น การเข้าใจวัตถุประสงค์ในการสื่อสารของผู้เขียนในบทความ หรือการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ

ทั้งนี้อีกกว่าครึ่งที่มีทักษะวิทยาศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐานในการเข้าใจและอธิบาย ปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป ถึง 53% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างกลุ่มประเทศ OECD กว่า 2 เท่า

 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

ดร.ประสาร กล่าวว่า การแก้ปัญหาเพื่อฝ่าวิกฤตทักษะทุนชีวิตทุกช่วงวัย จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วน เพื่อเร่งพัฒนาและเสริมสร้างทักษะที่ขาดหาย ไม่ให้เป็นการขาดทุนสะสมที่จะทยอยสะสมขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นภาวะล้มละลายทางทุนชีวิตในวัยผู้ใหญ่ 

โดยควรมีการดำเนินมาตรการในแต่ละช่วงวัยที่เพียงพอและเหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนให้ครัวเรือนยากจนสามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะอย่างเต็มที่ ซึ่งการวิจัยเรื่องทุนมนุษย์ ช่วยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีข้อมูลที่มีคุณภาพในการติดตามสถานการณ์การพัฒนาทุนมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย ที่จะคอยทำหน้าที่เสมือนเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถวินิจฉัยโรคที่ซ่อนอยู่หรือติดตามสถานการณ์ของโรคที่มีอยู่ได้ 

รวมถึงการดำเนินมาตรการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่โรคจะลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากและสายเกินไปที่จะแก้ไขให้หายหรือทุเลาลงได้ รัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลวิจัย เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างตรงจุดปัญหา