World Bank - กสศ. เปิดผลวิจัยครั้งแรก "ไทยกำลังเผชิญวิกฤตทักษะทุนชีวิต"

22 ก.พ. 2567 | 15:11 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2567 | 15:28 น.
532

World Bank และกสศ. เปิดผลวิจัยครั้งแรก พบคนไทย 75% มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ รู้หนังสือ ดิจิทัล จัดการอารมณ์และสังคม ถือเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ 3.3 ล้านล้านบาท หรือ 20%ของจีดีพีแนะควรเร่งลงทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต เพิ่มรายได้ ดันไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง

มีการเปิดเวที High Level Policy Forum “ทิศทางการพัฒนาทักษะทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และมีการเปิดผลโครงการวิจัย สำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน หรือ ASAT  

ซึ่งได้ออกแบบมาเพื่อวัดทักษะรากฐาน (Foundational Skills)  ของเยาวชนและผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปี ประกอบด้วย ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทิล  และทักษะทางอารมณ์และสังคม  ครอบคลุม 6 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และ EEC  โดยออกแบบเพื่อสร้างตัวชี้วัดที่สามารถเป็นตันแทนในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
 
นายโคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก นำเสนอผลวิจัยระบุว่า   ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตทักษะทุนชีวิต คล้ายกับหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้  คือมีสัดส่วนที่ใหญ่มากของเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะทุนชีวิต หรือ Foundational Skills ต่ำกว่าเกณฑ์ กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถในการอ่านหนังสือขั้นพื้นฐานและการคำนวณอย่างง่ายๆ และไม่แสดงออกว่าจะสามารถมีส่วนร่วมกับผู้อื่นหรือเปิดกว้างรับแนวคิดใหม่ๆ  

ทั้งนี้เกือบสองในสาม หรือ ร้อยละ 64.7  ของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่ในประเทศไทยมีทักษะด้านการรู้หนังสือที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะอ่านและเข้าใจข้อความสั้นเพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ เช่น การทำตามฉลากยา

คุณโคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก

ขณะที่จำนวนสามในสี่ หรือร้อยละ 74.1 ของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (pointing device) และแป้นพิมพ์ (keyboard) บนคอมพิวเตอร์พกพาและไม่สามารถทำงานง่ายๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ ยิ่งไปกว่านั้น

ร้อยละ 30.3 ของเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์  หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มเพื่อสังคมหรือมีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นและมีจินตนาการซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนรับมือและประสบความสำเร็จในที่ทำงาน

ทักษะทางอารมณ์และสังคมเหล่านี้ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าช่วยให้บุคคลสามารถผ่านความไม่แน่นอน ความเสี่ยง และความตื่นตระหนกในชีวิตประจำวัน รวมถึงการระบาดล่าสุดของโควิด-19 และภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยมักประสบ

World Bank - กสศ. เปิดผลวิจัยครั้งแรก \"ไทยกำลังเผชิญวิกฤตทักษะทุนชีวิต\"
 

 งานวิจัยยังพบว่า ประเทศไทยมีประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่เกือบหนึ่งในห้า หรือร้อยละ 18.7 ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดทักษะทุนชีวิตทั้งสามด้าน  

การขาดทักษะหลาย ๆ ด้านนั้น หมายความว่าบุคคลนั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองเลย และมีแนวโน้มว่าจะเหลือเพียงทางเลือกที่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อชดเชยวิกฤตด้านทักษะ ประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะก้าวไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำ และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม 

นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ที่อยู่ในชนบทมีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ร้อยละ 65)  ร้อยละ 80 ของผู้ที่มีอwายุ 40 ปีขึ้นไปมีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 75)   ร้อยละ 60 ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปั และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา มีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 65)

World Bank - กสศ. เปิดผลวิจัยครั้งแรก \"ไทยกำลังเผชิญวิกฤตทักษะทุนชีวิต\"

นอกจากนี้ วิกฤตด้านทักษะถูกพบมากในกลุ่มผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทอาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคใต้ ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา    ร้อยละ 89 ของผู้ที่อยู่ในภาคเหนือมีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 65)  ร้อยละ 84 ของผู้ที่อยู่ภายใต้มีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 75%) 
 
นายโคจิ กล่าวว่า ผลลัพธ์นี้สามารถเปรียบเทียบกับตัวเลขที่คล้ายกันจากการสำรวจทักษะผู้ใหญ่ของ OECD ซึ่งรวมถึงผลลัพธ์จากฟินแลนด์ (ร้อยละ 37.1 ในปี 2555) เอสโตเนีย (ร้อยละ 47.3 ในปีพ.ศ. 2555) เกาหลี (ร้อยละ 49.9 ในปีพ.ศ. 2555) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 49.1 ในปีพ.ศ. 2555) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 56.6 ในปีพ.ศ. 2558) (OECD 2562)  ผลการศึกษาจำนวนมากจากการสำรวจทักษะผู้ใหญ่ของ OECD ชี้ให้เห็นว่าทักษะเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของตลาดแรงงานและผลลัพธ์ทางสังคมในระดับบุคคล ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ
 
“การที่มีสัดส่วนที่ใหญ่ของเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์นั้น เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจทมหาศาล  โดยมีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 20.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product: GDP)  ในปี พ.ศ. 2565  โดยมูลค่าดังกล่าวมีจำนวนสูงกว่างบประมาณภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2565 (3.1 ล้านล้านบาท) ขณะที่ความแตกต่างหรือช่องว่างของรายได้แรงงานต่อเดือนระหว่างผู้ที่มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์และสูงกว่าเกณฑ์ มีรายได้ต่างกันถึง 6,300 บาท หรือ 190 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน”  

World Bank - กสศ. เปิดผลวิจัยครั้งแรก \"ไทยกำลังเผชิญวิกฤตทักษะทุนชีวิต\"     

สำหรับ Foundational Skills หรือทักษะทุนชีวิต คือทักษะด้านสมรรถนะที่เด็ก เยาวชนและประชากรวัยแรงงานจำเป็นต้องมี ประกอบด้วย ด้านการอ่านออกเขียนได้ ด้านดิจิทัล ด้านสังคมและอารมณ์  เพื่อเผชิญกับความท้าทาย สามารถแก้ปัญหาที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน  ช่วยพัฒนาความสามารถของบุคคลให้ก้าวไปข้างหน้า และใช้ประโยชน์จากโอกาสในศตวรรษที่ 21  

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า  ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 หรือกว่า 48 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังคงติดอยู่ในสถานะที่ทางธนาคารโลกเรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” อยู่ และประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นอีกราว 40% เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ ภายใต้ความร่วมกับธนาคารโลกในการดำเนินโครงการวิจัย สำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน หรือ ASAT ในครั้งนี้ กสศ.มุ่งใช้ข้อมูลและพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพสูงในระดับนานาชาติ เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางนโยบายระดับชาติให้ประเทศไทยการก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ด้วยพลังของคนไทยทุกคนภายในระยะเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ได้ 

ดร.ประสาร ชี้ว่า จากข้อค้นพบในงานวิจัยกสศ.มีข้อเสนอนโยบายต่อรัฐบาล 3 ด้าน ได้แก่

1.การเร่งลงทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต(Foundational Skills) ทั้ง 3 ด้าน ด้วยการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ที่มีอยู่ในทุกระดับการศึกษา และการฝึกอบรมพัฒนาประชากรวัยแรงงาน อย่างเสมอภาค โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เปราะบาง การมีทักษะทุนชีวิตนี้เพิ่มขึ้นในประชากรวัยแรงงานของไทย ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยในศตวรรษที่ 21 

World Bank - กสศ. เปิดผลวิจัยครั้งแรก \"ไทยกำลังเผชิญวิกฤตทักษะทุนชีวิต\"

2.การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ (Learning Culture) ให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมมือกันสนับสนุนการพัฒนาทักษะทุนชีวิตของเด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงานทุก ๆ คน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของการลงทุนในทักษะทุนชีวิต  

3.การลงทุนในทุนมนุษย์อย่างทักษะทุนชีวิต รวมทั้งการลงทุนในมาตรการอื่น ๆที่เกี่ยวข้องถือเป็นเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และการพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางที่ตรงจุดและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสุดที่ต้องการการนำ (Leadership) จากรัฐบาลในการส่งเสริมให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันใช้ประโยชน์จากงานวิจัยฉบับนี้สู่การปฏิบัติแก่ประชาชนคนไทยทุกคน 

World Bank - กสศ. เปิดผลวิจัยครั้งแรก \"ไทยกำลังเผชิญวิกฤตทักษะทุนชีวิต\"
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแนวทางเชิงกลยุทธ์ ผ่านโครงการครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ข้อมูลการวัดระดับทักษะ เพื่อให้เราได้เห็นภาพศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของเรา ตามความเป็นจริง  จะช่วยให้รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เห็นจุดสำคัญ ทั้งในด้านช่องว่างทางทักษะ (หรือ skill gaps) และการขาดแคลนทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายในชีวิต ในศตวรรษที่ 21
รัฐบาลเห็นสัญญาณของปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำนี้มาเป็นเวลานาน ทั้งจากการวัดผลด้านทักษะระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ความแตกต่างระหว่างผู้มีโอกาสและผู้ด้อยโอกาส มีช่วงห่างที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่ได้นิ่งนอนใจ  

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้แก่ เด็ก เยาวชนและประชาชน ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อสร้างโอกาสและเส้นทางสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ที่ดีขึ้น เช่น นโยบาย “Thailand Zero Dropout” หรือ “Learn to Earn” สำหรับทุกช่วงวัย รวมถึงการที่รัฐบาลพยายามเชิญชวนภาคธุรกิจเอกชนจากทั่วโลก ที่มีจุดแข็ง ที่หลากหลาย เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญก็คือ ความร่วมมือเพื่อยกระดับการพัฒนาทุนมนุษย์ สนับสนุนการเรียนรู้ และการฝึกอบรมทักษะที่ต้องมีในตลาดแรงงาน สำหรับคนไทยทุกช่วงวัย 

World Bank - กสศ. เปิดผลวิจัยครั้งแรก \"ไทยกำลังเผชิญวิกฤตทักษะทุนชีวิต\"

“ข้อค้นพบ และข้อเสนอนโยบายจากงานวิจัยนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยมี Roadmap  การพัฒนาทุนมนุษย์ทุกช่วงวัยที่ตรงจุด และสร้างผลลัพธ์ในการพัฒนาคนได้สูงที่สุด  รวมทั้งช่วยให้ภาคเอกชน ทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ มีความมั่นใจในการลงทุนเพื่ออนาคต ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย ผมขอย้ำว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อยกระดับประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง  ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” 

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเดินมาถึงจุดเปลี่ยน ที่ต้องการ “การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” ในการสร้างระบบนิเวศของการศึกษา และการฝึกอบรม ให้เข้มแข็ง ยืดหยุ่นและยั่งยืนความพยายามทั้งหมดนี้ คือ “สัญญาประชาคม สู่สังคมแห่งการเรียนรู้” ที่รัฐบาลมีต่อคนไทยทุกคน เพื่อให้เยาวชนและคนไทยทุกคนมีโอกาสที่จะเรียน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะที่เปราะบางเพียงใด เพราะเราเชื่อว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจหรือสังคม

World Bank - กสศ. เปิดผลวิจัยครั้งแรก \"ไทยกำลังเผชิญวิกฤตทักษะทุนชีวิต\"