GDP ไทยโตต่ำ กระทบรายได้ผู้ปกครอง เสี่ยงทำเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

20 พ.ค. 2567 | 17:25 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2567 | 18:27 น.

เปิดเทอม 2567 มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ขณะที่ GDP ของประเทศไตรมาสเเรกปี 2567 โตขยายตัวต่ำ 1.5% กระทบเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยขยายตัวเพียง 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 1.1% จากไตรมาสที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงสัญญาณชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปี

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ สศช.ต้องปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงมาอยู่ที่ระดับ 2-3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.2-3.2%

สาเหตุหลักที่ทำให้ต้องปรับลดคาดการณ์ลงมาจากสถานการณ์สงครามการค้าและสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอลงในไตรมาสแรก และการปรับลดคาดการณ์การเติบโตประจำปี 2567 ลง สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ นอกจากปัจจัยภายนอกจากสงครามการค้าและสถานการณ์ทางการเมืองโลกแล้ว ประเด็นปัญหาภายในประเทศเอง ก็ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญคือ เด็กนอกระบบการศึกษา เเละเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวย่อมส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ขยายกว้างขึ้น  

 

เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ปกครองรายได้ลดลง

โดยเฉพาะในส่วนของ การจ้างงานผู้ปกครอง เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในระบบสัญญาจ้างระยะสั้น และเป็นสัญญาจ้างรายวัน อาจทำให้ถูกลดค่าจ้างรายวัน เช่น เดิมได้ค่าจ้าง 200-300 บาท จะเหลือเพียง 100-150 บาท

ดังนั้น เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะนำไปสู่การต่อรองค่าจ้าง และการย้ายถิ่นที่อยู่ของผู้ปกครอง ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าว 

 

เปิดเทอม 2567 ค่าใช้จ่ายแพงขึ้น 

ผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 25,322 บาท ต่อคน แบ่งเป็น

  • ค่าเทอม เฉลี่ย 20,039.87 บาท เพิ่มขึ้น 59.9%
  • ค่าบำรุงโรงเรียน 2,394.81 บาท เพิ่มขึ้น 24.9%
  • ค่าบำรุงโรงเรียน (กรณีย้ายโรงเรียน/แป๊ะเจี๊ยะ) 8,573.93 บาท เพิ่มขึ้น 38.7%
  • หนังสือ 2,446.28 บาท เพิ่มขึ้น 9.9%
  • อุปกรณ์การเรียน 1,645.91 บาท เพิ่มขึ้น 29.3%
  • ชุดนักเรียน พละ เนตรนารี-ลูกเสือ 1,993.75 บาท เพิ่มขึ้น 26.2 %
  • รองเท้า-ถุงเท้า 1,224.39 บาท เพิ่มขึ้น 38%
  • บริหารจัดการพิเศษ ประกันชีวิต 1,577.20 บาท เพิ่มขึ้น 33.5%

ตามรายงานขององค์การยูเนสโก ระบุว่า ปัญหานี้ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมสูงถึง 1.7 % ของ GDP  คิดเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ 6,529  ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ

GDP ไทยโตต่ำ กระทบรายได้ผู้ปกครอง เสี่ยงทำเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่า การมีเด็กจำนวนมากที่หลุดจากระบบการศึกษา นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศแล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากเด็กเหล่านี้จะมีโอกาสน้อยในการพัฒนาทักษะ ความรู้ และศักยภาพ จึงอาจต้องประสบปัญหาการว่างงาน รายได้น้อย และความยากจนตามมา ซึ่งจะกลายเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในที่สุด

เเต่หากประเทศไทยไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น 3% ตามข้อมูลจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 

ข้อมูลในปี 2566 มีการเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและเยาวชนรายบุคคล ทั้ง 21 สังกัด และเชื่อมโยงข้อมูลประชากรจากทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา หรือ หลุดออกจากระบบ  1.02 ล้านคน ในจำนวนนี้คือ อนุบาล 1- ม.6 อายุ 3-18 ปี ในเด็กกลุ่มนี้ พบว่า เด็ก ป. 1- ม.3 หลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับมากที่สุด 3.94 แสนคน