เช็กสภาพ "เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย" จุดไหนที่มีปัญหา

09 พ.ค. 2567 | 06:45 น.
792

เช็กสภาพ 4 เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย หลัง รมว.คลัง พิชัย ชุณหวชิร ยอมรับเศรษฐกิจมีปัญหา GDP เติบโตลดลงทุกปี เงินออมไม่มี หนี้ครัวเรือนสูง

หลังจากที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้ากระทรวงการคลังเป็นวันแรก ก็ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา เพราะนับจากช่วงต้มยำกุ้ง GDPไทยเติบโตลดลงมาตลอด จาก 5% เหลือเพียง 2% โดยทุก 5 ปี จีดีพีจะลดลง 1%

ซึ่งต่ำสวนทางกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่ขยายตัวมากกว่าไทย สะท้อนปัญหาโดยเฉพาะด้านส่งออก ที่ไทยเคยเป็นฐานการผลิตสำคัญ แต่วันนี้โลกมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ไทยไม่สามารถปรับตัวให้ทันตาม เป็นการผลิตสินค้ารูปแบบเก่า

ส่วนที่มองว่า GDP ปีนี้ 2.4%  ต่ำไปหรือไม่ ก็พยายามทำให้ดีที่สุด แต่เศรษฐกิจในปีนี้ก็ต้องมาจากพื้นฐานก่อนหน้าที่ดีด้วย โดยสิ่งที่กระทรวงการคลังจะทำเป็นอันดับแรก คือ การเพิ่มรายได้ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะวันนี้คนมีรายได้น้อยลง GDPต่ำลง เงินเฟ้อก็ต่ำ แต่รายได้อาจลดลงต่ำกว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินกว่า 90%  เงินออมก็แทบไม่มี ฉะนั้นจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่กันกับการแก้ปัญหาหนี้

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น ประกอบไปด้วย 

เครื่องยนต์เครื่องที่ 1 คือ การบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศ (Private Consumption: C) 
เครื่องยนต์เครื่องที่ 2 คือ การค้าต่างประเทศ (X-M) หรือการส่งออกสุทธิ (Net Export)
เครื่องยนต์เครื่องที่ 3 คือ การบริโภคภาครัฐ (Government spending: G)
เครื่องยนต์เครื่องที่ 4 คือ การลงทุน ซึ่งรวมถึงการลงทุนภาคเอกชน(Private Investment) และการลงทุนภาครัฐ(Public Investment)

เมื่อตรวจสอบ ประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2567 (ณ เมษายน 2567) กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พบว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี เร่งขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงบทบาทสนับสนุนของนโยบายการคลังในช่วงที่เหลือของปี

ประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2567 (ณ เมษายน 2567) กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

เมื่อวิเคราะห์เครื่องยนต์เศรษฐกิจรายตัว พบข้อมูลการคาดการณ์การลงทุนภาคเอกชน(Private Investment) จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี(ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ3.2 - 4.2) เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี

ขณะที่คาดการณ์การบริโภคภาคเอกชน(Private Consumption: C) จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 - 4.0) ลดลงจากปี 2566 ที่อยู่ที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี

สำหรับคาดการณ์การส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และคาดการณ์มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการ จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ติดลบร้อยละ 2.2 ต่อปี

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ(Government spending: G) คาดการณ์ด้านการบริโภคภาครัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปีเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ติดลบอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี ด้านการลงทุนภาครัฐ คาดการณ์ ปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ติดลบร้อยละ 4.6 ต่อปี

เช็กสภาพ \"เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย\" จุดไหนที่มีปัญหา

ทั้งนี้ นายพรชัย ฐีระเวช ผูอำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึงเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคงโดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยูที่ ร้อยละ 0.6ต่อปี(ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ0.1 - 1.1) ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ

ดุลบริการมีแนวโน้มจะเกินดุลตามการเพิ่มข้ึนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP และในช่วงต่อจากน้ีเม็ดเงินจากงบประมาณปี2567 จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเร่งข้ึนได้ในช่วงที่เหลือของปี2567

นอกจากน้ีหากเม็ดเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต สามารถเริ่มมีการใช้จ่ายภายในไตรมาสที่4 ปี2567 จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี2567ขยายตัวได้เพิ่มข้ึนที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี(กรณีประชาชนใช้จ่ายเม็ดเงินส่วนใหญ่ภายในสิ้นปี2567)

อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด เช่นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากข้ึน อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

อีกปัจจัยคือความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยโดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์