วิกฤตแรงงานไทย ฉุด 3.3ล้านล้าน “ทักษะมนุษย์” ต่ำกว่าเกณฑ์โลก

22 มี.ค. 2567 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2567 | 13:54 น.
4.3 k

ไทยส่อวิกฤต “ทักษะมนุษย์” ต่ำกว่าเกณฑ์โลก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เผยผลวิจัยพบ แรงงาน 50 ล้านคน ตกเกณฑ์ทักษะด้านรู้หนังสือ ทักษะด้านดิจิทัล และทักษะด้านอารมณ์และสังคม ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ มูลค่าความเสียหาย 1 ใน 5 ของ GDP หรือราว 3.3 ล้านล้านบาท

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อมูลการวิเคราะห์ ผลกระทบ “ระดับบุคคล” จากผลการสำรวจ ทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการศึกษาการพัฒนาทักษะทุนชีวิต หรือ ทุนมนุษย์ 3 ด้าน

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

คือ การอ่านออกเขียนได้ ทักษะทางดิจิทัล ทักษะสังคมและอารมณ์ ในช่วงอายุ 15-64 ปี 7,300 คนทั่วประเทศ โดย ธนาคารโลก (World Bank)มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นการประเมินขีดความสามารถของแรงงานไทย และเป็นการประเมินตามมาตรฐานสากล ซึ่งทั่วประเทศกว่า 40 ประเทศทั่วโลกได้มีการทำงานเรื่องนี้ และมีข้อมูลในการทำงาน ขณะที่ในไทยยังไม่เคยมีมาก่อน

ประเมินทักษะทุนชีวิต

สำหรับสิ่งที่ได้ทำการประเมินนั้น คือ “ทักษะทุนชีวิต” ที่ประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ 1. เรื่องการรู้หนังสือ หรือทักษะการอ่าน 2. ทักษะด้านดิจิทัล และ 3. ทักษะทางสังคมและอารมณ์

ทักษะการรู้หนังสือและการอ่าน เป็นทักษะสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ ในทุกสาขาวิชา และทุกอาชีพ ถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในการเรียนรู้ หรือหากกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม คือ ทักษะการรู้หนังสือ หรือการอ่าน เช่น หากกล่าวถึงผู้ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้า ถ้าช่างไฟฟ้าไม่สามารถอ่านคู่มือการปฏิบัติงาน (Work Manual) ทำให้เขาอาจไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าจะต้องปฏิบัติการอย่างไร การทำงานของเขาอาจไม่ประสบความสำเร็จ และมีความเสี่ยง

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

รวมไปถึงเราได้มีการประเมินลงลึกไปถึงการใช้แรงงาน ว่า สามารถที่จะอ่านฉลากยา และเข้าใจ และมีความสามารถที่จะเข้าใจและทำตามได้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และทุกอาชีพ ทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งนับว่าเป็นการประเมินที่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของโลก เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีประเทศไหนที่ทำการประเมินเรื่องนี้ โดยทักษะด้านดิจิทัลในประเทศไทย ถือเป็นทักษะสำคัญในยุคนี้ที่ขาดไม่ได้

 “ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบออนไลน์ โดยสิ่งที่เราประเมินในเรื่องนี้ ก็คือว่าเราประเมินความสามารถในการใช้อุปกรณ์ ว่าทำได้หรือไม่ จากนั้นยังมีการประเมินในการซื้อสินค้าออนไลน์ การเข้าไปกรอกข้อมูลในระบบออนไลน์เพื่อไปทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น แรงงานไทยกลุ่มเปราะบางจะต้องรับสวัสดิการของรัฐ เราจะดูว่าเขามีความสามารถในการกรอกข้อมูลของตัวเองเข้าไปในระบบออนไลน์ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นทักษะทางดิจิทัลพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ไม่ใช่ทางเทคนิค” นางสาวธันว์ธิดา กล่าว

 ทักษะทางสังคมและอารมณ์ ธนาคารโลก ได้ทำงานเกี่ยวกับการประเมินเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ขณะที่ไทยเองก็มีเสียงสะท้อนจากนายจ้าง ที่บอกว่าแรงงานที่เข้าไปทำงาน ขาดทักษะเรื่องคิดวิเคราะห์ ขาดทักษะในเรื่องของการจัดการอารมณ์ ขาดทักษะเรื่องการคิดสร้างสรรค์ ขาดทักษะการมีส่วนร่วม หรือ ความกระตือรือร้น ซึ่งในการประเมินทักษะทางด้านอารมณ์ จึงรวมเรื่องเหล่านี้เข้าไปด้วย คือ ในเรื่องของทักษะของอารมณ์และสังคมว่าสามารถที่จะมีความสามารถในเรื่องนี้หรือไม่

วิกฤตแรงงานไทย ฉุด 3.3ล้านล้าน “ทักษะมนุษย์” ต่ำกว่าเกณฑ์โลก

ผลประเมินต่ำว่าเกณฑ์กระทบ 2 ด้าน

นางสาวธันว์ธิดา กล่าวว่าทักษะที่ได้ทำการประเมินทั้งหมดนี้ เรียกว่า “Foundational Skills หรือ ทักษะทุนชีวิต” โดยหลังทำการประเมิน คือ ผลการประเมินถือว่า เป็นข่าวไม่ค่อยดีเท่าไร ผลพบว่า ร้อยละ 70 ของแรงงานไทย มีทักษะไม่ถึงเกณฑ์ ทั้งทักษะรู้หนังสือ ทักษะด้านดิจิทัล และทักษะด้านอารมณ์และสังคม

เมื่อทักษะของต่ำกว่าเกณฑ์ สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบใน 2 ด้าน คือ

1. ความเสียหายทางมูลค่าทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ แรงงานไทยราว 50 ล้านคน ยังไม่มี 3 ทักษะนี้ หรือมีเพียงทักษะด้านใดด้านหนึ่ง คือ จะเกิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 1 ใน 5 ของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) หรือ ประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท จากมูลค่าจีดีพีปี 2565และสูงกว่างบประมาณรัฐ ปี 2565 โดยขณะนั้นอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก

2. ระดับบุคล ทางธนาคารโลก และกสศ. ได้มีการวิจัยร่วมกัน พบว่า คนที่ผ่านเกณฑ์และคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ มีช่องว่างระหว่างรายได้ที่ต่างกันถึง 6,700 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้ที่ต่างกันสูงมาก

“เชื่อว่าเพียงแค่เราส่งเสริมทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน รายได้ของแรงงานกลุ่มนี้จะสูงขึ้นมาได้อีกเฉลี่ย 6,700 บาท ต่อเดือน นี่คือการเปลี่ยนแปลงชีวิตของแรงงาน และทำให้เขาหลุดจากความยากจนได้ ผ่านการพัฒนาทักษะทุนที่ชิตที่เรากล่าวถึง คือ การขาดทักษะทุนชีวิต จะส่งผลต่อทั้งระดับชาติ และระดับบุคลนั่นเอง” นางสาวธันว์ธิดา กล่าว

 

ยกโมเดล “โบโกต้า” เมืองต้นแบบ

นางสาวธันว์ธิดา กล่าวถึง ตัวอย่างของเมืองโบโกต้า ประเทศโคลัมเบีย ที่มีส่งเสริมกล่มที่อยู่ในวัยเรียน และ กลุ่มที่อยู่นอกรั้วโรงเรียน ในส่วนของวัยเรียน เมืองโบโกต้ามีการทำแผนระยะ 5 ปี มีการสร้างนวัตกรรม ลงไปที่ผู้ปกครอง ทำงานกับครู ทำงานกับหลักสูตร และเชื่อมทุกช่วงวันของการศึกษา คือ ตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยม จนถึงระดับมหาวิทยาลัย คือ มีการทำงานต่อเนื่องในระบบการศึกษา เพื่อสร้างทักษะทุนชีวิต ทำงานกับครู ทำงานกับผู้อำนวยการ เพื่อให้เขาได้เป็นผู้นำในเรื่องของทักษะทุนชีวิต ในระบบการศึกษา

สำหรับประเทศไทย อีกกลุ่มที่มีความสำคัญ คือ กลุ่มคนที่อยู่นอกรั้วโรงเรียน หรือ อยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งถือว่ามีความเสียเปรียบมากที่สุด เพราะเราไม่สามารถที่จะเอาเขาไปเรียน ป.1 ได้ เพราะเขาอยู่ในตลาดแรงงานแล้ว ไม่สามารถเอากลับไปอยู่ในโรงเรียนได้ ก็จะมีนวัตกรรมหรือให้การช่วยเหลือกลุ่มที่อยู่นอกระบบนี้อย่างไร ถามว่า คนที่อยู่นอกระบบเวลานี้มีจำนวนเท่าไร ประเทศไทย คนที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนประมาณ 50 ล้านคน แต่เมื่อเจาะลงไปกลุ่มที่ “เปราะบาง” และเสียโอกาสมาที่สุด คือ แรงงานนอกระบบ มีจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมด เราจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมทักษะทุนชีวิตให้เขา เพราะทักษะทุนชีวิต จะทำให้เขาประกอบอาชีพได้ดียิ่งขึ้น มีรายได้ที่สูงมากขึ้น

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ทางออกวิกฤตทักษะไทยทำอะไรได้บ้าง

เมื่อถามว่าจากการประเมินขีดความสามารถ เราสามารถทำอะไรได้บ้างหลังจากนี้ นางสาวธันว์ธิดา กล่าวว่า จากประสบการณ์ของประเทศชั้นนำกว่า 40 ประเทศ ที่มีข้อมูลในเรื่องนี้ เขาจะมีการลงทุนไปที่กลุ่มเปราะบาง มีการแก้ไขกฎหมาย สร้างตัวช่วยต่างๆ เพื่อให้สามารถทำงานเรื่องนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในระดับประเทศยังคงเป็นภาพใหญ่ แต่การทำงานที่สำคัญจากข้อเสนอทั้งหมด มองว่าการทำลงไปในระดับพื้นที่ หรือ ระดับจังหวัด หรือท้องถิ่น เพราะเป็นส่วนที่ใกล้ที่สุดกับประชาชน กับเยาวชน แรงงานของเรา คำตอบ จะอยู่ที่ จังหวัด และท้องถิ่น ที่จะทำงานไปด้วยกัน

“สิ่งที่จังหวัดและท้องถิ่น สามารถทำอะไรได้บ้าง คือ สามารถวิเคราะห์แรงงานของตนเอง สมมติว่าจังหวัดนั้น ๆ มีประชากร 1 ล้านคน เรากำลังพูดถึงวัยแรงงาน 6 แสนคน ในจำนวนแรงงานนี้ เราต้องสามารถที่จะบอกได้ว่า กลุ่มไหนที่เป็นกลุ่มมีทักษะทุนชีวิตอ่อน กลุ่มไหนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เราก็สามารถที่จะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มนั้นได้ โดยไม่ต้องทำงานในลักษณะ หว่านแห ไปทักกลุ่ม สามารถเจาะไปที่กลุ่มที่ยังมีปัญหาอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องทุ่มทรัพยากรไปทั้งหมด” นางสาวธันว์ธิดา กล่าว

 

จี้ลงทุนเพิ่มทักษะหนีกับดักรายได้ปานกลาง

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ทุนมนุษย์ (human capital) มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละปัจเจกบุคคล นอกจากนั้น ทุนมนุษย์ยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงงานทักษะสูง ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตที่สำคัญ โดยบทบาทของทุนมนุษย์ยังสามารถเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

“การลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอย่างมาก เรื่องนี้ไม่เพียงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา การลงทุนในทุนมนุษย์คือหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคนร้อยละ 40 เพื่อออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ภายในปี 2579 ของไทย ทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่ฐานภาษีที่กว้างและลึกขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ จากการเจริญเติบโตของรายได้คนไทยอย่างยั่งยืน จึงกล่าวได้ว่า การลงทุนในทุนมนุษย์ให้เสมอภาคตั้งแต่ปฐมวัยถึงวัยแรงงานจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุ 2 เป้าหมายที่สำคัญที่พวกเรารอคอยมายาวกว่า 4 ทศวรรษ ได้แก่เป้าหมายการออกจากกับดักรายได้ปานกลาง และเป้าหมายการยุติวงจรความยากจนข้ามรุ่นได้ในช่วงชีวิตของพวกเราทุกคน” ดร.ประสาร กล่าว


 

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3977 วันที่ 24-27 มี.ค.2567