อดีตผู้ว่าธปท. ห่วงการลงทุนพัฒนาคน ทำไทยก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง

05 มี.ค. 2567 | 20:45 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มี.ค. 2567 | 19:38 น.

"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ชี้การลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์จำเป็นอย่างยิ่งดันเศรษฐกิจโตระยะยาว บี้ถ้าไม่เร่งทำอาจมีความเสี่ยงกระทบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 หลุดเป้า หนีไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง

วันนี้ (5 มีนาคม 2567) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ "ทุนมนุษย์" ยุค 5.0 สร้างไทยยั่งยืน ขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องในโอกาสครบรอบ 69 ปี (TJA 69th Anniversary Talk) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศในระยะยาว หากไม่เร่งดำเนินการอาจมีความเสี่ยงหลายอย่างที่จะกระทบต่อประเทศไทยได้

"แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 กำลังจะครบกำหนดในอีกไม่กี่ปีนี้ ถ้าไม่เร่งการลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ จะมีความเสี่ยงว่าการดำเนินงานภายใต้แผนฯ 13 จะไม่บรรลุเป้าหมายนี้ได้" ดร.ประสาร กล่าว

สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ จำเป็นต้องคำนึงถึงความท้าทายอย่างน้อย 6 ด้าน ดังนี้

1.ความท้าทายด้านโรคระบาดขนาดใหญ่ เป็นความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเร็ว และจะส่งผลต่อกำลังแรงงาน และรูปแบบงานในอนาคต

2.ความท้าทายด้านประชากรสูงอายุ ซึ่งจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยประเมินว่า สัดส่วนคนวัยแรงงานจะลดลงจาก 71% ในปี 2563 เหลือ 56% ในปี 2603 และอัตราส่วนคนวัยทำงานต่อผู้สูงอายุจะลดลงจาก 2 ต่อ 1 เหลือ 1 ต่อ 1 ในปี 2603 ด้วย

3.ความท้าทายด้านความยากจนในชนบท โดยพบว่า คนจนในประเทศไทยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในชนบทถึง 79% และเมื่อเทียบกับคนจนเมือง ก็มีมากถึง 2.3 ล้านคน 

4.ความท้าทายด้านความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ แม้จะลดความยากจนลงแล้ว แต่ประเทศไทยยังมีอัตราความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเมืองและชนบทในอัตราที่สูง ถือเป็นความเหลื่อมล้ำที่ต้องเร่งแก้ไข

5.ความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านสิ่งแวดล้อม 

6.ความท้าทายด้านภัยธรรมชาติ โดยประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติหลายประการที่จะกระทบต่อตลาดแรงงานของไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ

ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับเป็นแนวทางการลงทุนในทุนมนุษย์ 4 ข้อ ดังนี้

1.ลงทุนตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยเริ่มต้นตั้งแต่ในเด็กเยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัย มุ่งเน้นลงทุนที่ตัวเด็กและครัวเรือนยากจน ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่ถูกจุดที่สุดและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการลงทุนกับคนในวัยอื่นด้วย

2.ลงทุนให้ถูกกลุ่มเป้าหมายสำคัญของประเทศ ด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด โดยประเทศไทยควรลงทุนสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และระบบการศึกษาทางเลือกที่มีความยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต สนับสนุนให้ทุกคนทุกกลุ่มมีโอกาสเข้ารับการอบรมเพื่อยกระดับและพัฒนาทักษะใหม่

3.ลงทุนอย่างเสมอภาคให้ความสำคัญต่อสิทธิทางการศึกษาของเด็ก ทั้งในและนอกระบบการศึกษา

4.ลงทุนด้วยนวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการพัฒนามนุษย์ โดยใช้แรงจูงใจ เช่น การใช้มาตรการลดหย่อนภาษี 2 เท่า การใช้มาตรการกึ่งการคลัง เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเสมอภาค และการเหนี่ยวนำทรัพยากรจากตลาดเงินและตลาดทุนมาร่วมลงทุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษา เป็นต้น

ดร.ประสาร กล่าวว่า การลงทุนในทุนมนุษย์จะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญ โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคนให้มากขึ้น และสุดท้ายจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุ 2 เป้าหมายสำคัญที่กำลังพยายามมานาน ทั้ง การหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และการยุติวงจรความยากจนลงได้