ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือในฤดูฝน ปี 2566 ว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญก็ตาม แต่จากการติดตามสภาพอากาศของ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า สถานการณ์จะกลับขั้วจากเอลนีโญเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน -กรกฎาคม 2567 ซึ่งจะทำให้มีฝนตกมากกว่าค่าปกติ
ดังนั้น สทนช.จึงได้นำ 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และ 3 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับเอลนีโญ ในช่วงที่ผ่านมา มาถอดบทเรียนโดยนำจุดอ่อนและปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นมาวางแผนแก้ไข พร้อมเสริมจุดแข็งให้สอดคล้องกับสภาวะลานีญาที่จะเกิดขึ้น ก่อนที่จะนำมาจัดทำ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ ซึ่งมีทั้งหมด 10 มาตรการ ประกอบด้วย
1.คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง โดยจะต้องมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำในลำน้ำ ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ตลอดจนพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากฝนทิ้งช่วง
2.ทวบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่าง บูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ โดยจะต้องบริหารจัดการในภาพรวมทั้งลุ่มน้ำ พร้อมทั้งบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำหลาก และวางแผนปรับปฏิทินและควบคุมพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูฝนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ
3.เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ ระบบโทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง และศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง
4.ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัยของคันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยคันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้น ภายใต้คณะกรรมการลุ่มน้ำ
5.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ โดยจัดทำแผนบูรณาการด้านเครื่องมือเครื่องจักร สารชีวภัณฑ์ในการกำจัดวัชพืช ผักตบชวา ขยะในลำน้ำ และดำเนินการขุดลอกคูคลอง พร้อมทั้งจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำหลากกรณีต่างๆในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่เปราะบาง
6.ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ โดยบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารภัยในระดับชาติและระดับพื้นที่
7.เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน โดยกักเก็บน้ำส่วนเกินไปเก็บไว้ในลำน้ำและแหล่งน้ำทุกประเภท พร้อมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินเพิ่มขึ้น เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป
8.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์
9.การสร้างการรับรู้ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์ ด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยง โดยจะต้องสร้างการรับรู้ที่เข้าใจง่าย เช่น การใช้ภาษาท้องถิ่น
10.ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย เพื่อปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
“สำหรับ (ร่าง) 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ดังกล่าว ได้เน้นย้ำในเรื่องการเพิ่มความแม่นยำการคาดการณ์สถานการณ์ฝนได้ล่วงหน้านานขึ้น การสำรวจซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ให้พร้อมใช้งาน การวางแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง การวิเคราะห์จุดเสี่ยงน้ำท่วมโดยจัดแบ่งระดับเป็นสูงกลางและต่ำเพื่อใช้วางแผนเสริมอุปกรณ์ช่วยเหลือได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ จัดทำศูนย์ข้อมูลในพื้นที่เพื่อให้บริการประชาชน ขยายช่องทางและเสริมภาษาถิ่นเพื่อการสื่อสารแจ้งเตือนได้แพร่หลาย
ทั้งนี้ สทนช.จะนำเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปจัดทำแผนปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะขึ้นในช่วงฤดูฝนและจากสภาวะลานีญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง