การจัดทำร่างแผนพลังงานชาติ หรือ National Energy Plan (NEP) ที่จะกำหนดแนวนโยบายและทิศทางภาคพลังงานของประเทศ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบกรอบไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 กำลังใกล้จะแล้วเสร็จ โดยจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนภายในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งหนึ่งในแผนที่มีการจับตาในการกำหนดสัดส่วนการจัดหาพลังงานหรือไฟฟ้า คงหนีไม่พ้นการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2024-2037 ที่จะกำหนดสัดส่วนและปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดออกมา โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ที่ประเทศยังมีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก
นายวัชรพงศ์ เข็มแก้ว รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนด้านพลังงานลม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะนายกสมาคมพลังงานลม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสมาคมฯอยู่ระหว่างการติดตามร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ว่าจะมีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีในปริมาณที่เท่าใด หลังจากที่ผ่านมาทราบว่าบรรจุอยู่ในปริมาณ 10,000 เมกะวัตต์ หากเป็นไปตามนี้เท่ากับว่าตลอดแผนพีดีพีประเทศจะมีการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ราว 13,000 เมกะวัตต์ โดยกำลังผลิต 1,500 เมกะวัตต์ ได้มีการติดตั้งและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ส่วนอีก 1,500 เมกะวัตต์ อยู่ขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง หลังมีคำสั่งระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) จำนวน 22 ราย ในกลุ่มพลังงานลมเป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ ในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนประเทศบรรลุปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 และยังช่วยรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าของโลก ที่แต่ละประเทศจะทยอยออกมาตรการให้สินค้าประเภทต่างๆ ต้องลดการปล่อยคาร์บอนฯตั้งแต่ต้นทางการผลิต และช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ในการดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการไฟฟ้าสีเขียว
ขณะที่ไทยเองมีศักยภาพพลังงานลมถึงประมาณ 13,000-17,000 เมกะวัตต์ กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคกลาง พลังงานลมสูง เพราะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับกับภูเขา มีศักยภาพถึง ประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้มีการติดตั้งแล้ว 1,400 เมกะวัตต์ อีกทั้ง ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ มีศักยภาพพลังงานลมสูง แต่ส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่ภูเขาผลิตไฟฟ้าได้ราว 1,000 เมกะวัตต์
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีศักยภาพพลังงานลมปานกลางไปจนถึงสูง ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ราว 5,000 เมกะวัตต์ ภาคกลางตอนล่าง พลังงานลมปานกลางไปจนถึงสูง ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีค่อนข้างจำกัดมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ราว 3,000 เมกะวัตต์ และภาคใต้ พลังงานลมตํ่าไปจนถึงสูงแต่ส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาสูง มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ราว 2,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้มีการติดตั้งต่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 146 เมกะวัตต์
อีกทั้ง ปัจจุบันต้นทุนการผลิตสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ในระดับ 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งราคาไฟฟ้าจากพลังงานลมผันแปรกับปริมาณการรับซื้อ หากปริมาณการรับซื้อมากขึ้น จะทำให้ราคาไฟฟ้าลดตํ่าลงได้อีกด้วย โดยต้นทุนโครงการจะอยู่ระหว่าง 43-53 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและปัจจัยต่าง ๆ ของแต่ละโครงการ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการและการซ่อมบำรุงกังหันลมปีที่ 1-10 จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 0.65 ล้านบาทต่อต้นต่อปี และ 1 ล้านบาทต่อต้นต่อปี จากปีที่ 11 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ จากการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่เกิดขึ้น จะช่วยสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยพลังงานลมที่จะพัฒนาขึ้นอีก 1,500 เมกะวัตต์ จะก่อให้เกิดการลงทุนราว 65,000-80,000 ล้านบาท และเป็นโอกาสที่จะสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกังหันลมในประเทศไทย (Local Content)
ขณะเดียวกันจะทำให้เกิดการจ้างงานหลายพันตำแหน่ง ทั้งการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม และยังก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน อาทิ โครงการกําลังผลิตติดตั้ง 90 เมกะวัตต์ อาจมีเม็ดเงินลงไปที่ชุมชนของโครงการประมาณ 26 ล้านบาทต่อปี รวมเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์เงินสนับสนุนจากโครงการประมาณ 350 ครัวเรือน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการสร้างอุตสาหกรรมพลังงานลมต้องได้รับการสนับสนุนทางด้านนโยบายจากภาครัฐ ในการเพิ่มโควต้าการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้ เห็นได้จากการเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ รอบล่าสุดที่ผ่านมา มีผู้สนใจเป็นจำนวนมากที่จะลงทุนถึง 5,000 เมกะวัตต์ เกินกว่าที่รัฐจะรับซื้อได้ถึง 3,500 เมกะวัตต์
นายวัชรพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พลังงานลมของประเทศยังมีศักยภาพอีกมาก โดยเฉพาะพลังงานลมในทะเล ซึ่งภาครัฐควรจะเร่งศึกษาหรือเตรียมการไว้สำหรับการเพิ่มศักยภาพพลังงานลมในอนาคตเอาไว้สำหรับเป็นทางเลือก เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีและหลายประเทศได้มีการติดตั้งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ขณะที่ผ่านมาของไทยยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ ดังนั้น จำเป็นต้องเริ่มศึกษา เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขถึง 12 ฉบับ ในการเข้าไปใช้พื้นที่ศึกษาศัยภาพลมในทะเล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง