energy
18.7 k

เขย่าธุรกิจพลังงานใหม่ "ล้มเงินกินเปล่า" ลดค่าไฟ

    พรรคก้าวไกล เดินหน้ารื้อโครงสร้างพลังงาน ประเดิมลดค่าไฟฟ้า 70 สตางค์ต่อหน่วย ด้วยการรื้อสูตรราคาก๊าซฯใช้ผลิตไฟฟ้าใหม่ ปลดล็อกค่าความพร้อมจ่าย เงินกินเปล่าของโรงไฟฟ้า เปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป พร้อมทบทวนแผนพีดีพีใหม่ หนุนพลังงานสะอาด ลดปล่อยคาร์บอนฯเข้มข้นกว่าเดิม

พรรคก้าวไกล ประกาศเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และได้แถลงการขับเคลื่อน 300 นโยบาย สามารถผลักดันได้ใน 100 วันแรก 1 ปีแรก และสมัยแรก (4 ปี) ภายใต้กรอบ การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต โดยเฉพาะใน 100 วันแรก จะกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้องทันทีด้วยการลดค่าไฟฟ้า 70 สตางค์ต่อหน่วย และเปิดเสรีโซลาร์เซลล์ (Net Metering) เพื่อให้หลังคาสร้างรายได้ให้คนไทยทั้งประเทศสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองบนหลังคาบ้าน

รื้อสูตรราคาก๊าซฯลดต้นทุน

นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ปัญหาของค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาถูก ให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนำไปใช้ก่อน เมื่อเกิดปัญหาการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยไม่เพียงพอ จึงถูกบีบต้องไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีที่มีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้าแทน

ดังนั้น การแก้ปัญหาให้ต้นทุนเชื้อเพลิงที่มีราคาแพง จะต้องเปลี่ยนสูตรการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยจะต้องทำให้ราคาก๊าซฯในอ่าวไทย ที่ส่งให้โรงงานปิโตรเคมี ก๊าซฯจากเมียนมา และราคาแอลเอ็นจีนำเข้า จะต้องเป็นราคาเดียวกัน เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนต่ำลง ซึ่งการดำเนินจะคล้าย ๆ กับข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เคยดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ที่ให้จัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังเข้าโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเป็นลำดับแรก และเพิ่มปริมาณก๊าซในอ่าวไทยในการผลิตไฟฟ้า โดยลดปริมาณก๊าซอ่าวไทยที่เข้าโรงแยกก๊าซ แล้วส่งมาผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ในระยะ 100 วันแรกได้

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล

 

ปลดล็อกค่า AP เงินกินเปล่า

ส่วนระยะต่อไปจะปลดล็อกสัญญาค่าความพร้อมจ่ายหรือ AP ที่โรงไฟฟ้าทั้งเอสพีพีและไอพีพี มีสัญญาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนของค่าไฟฟ้าอย่างหนึ่ง แม้โรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ทางภาครัฐก็ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเป็นข้อผูกพันระยะยาวตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หากปลดล็อกในส่วนนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้อีก ซึ่งการดำเนินงานจะต้องเข้าไปดูว่าในระยะเวลา 5-10 ปีนี้ จะมีโรงไฟฟ้าใดหมดอายุสัญญาลงบ้าง โดยจะเชิญมาหารือ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม โดยที่รัฐบาลอาจจะมีข้อเสนอในการให้สิทธิลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนให้ เพราะต่อไปจะไม่มีการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต

“ค่าความพร้อมจ่ายหรือค่า AP ถือเป็นต้นทุนของค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้น เนื่องจากจะได้รับตลอดอายุสัญญา แม้ว่าโรงไฟฟ้านั้นๆ จะไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก็ตาม ซึ่งการปลดล็อกค่า AP เพราะเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว อีกทั้ง โรงไฟฟ้าต่างๆ ที่กู้เงินมาลงทุนสามารถคืนทุนหรือชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงินไปหมดแล้ว ดังนั้น หลังจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย จะเชิญผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ยังมีสัญญาขายไฟฟ้าอีก 5-10 ปี มาเจรจา เพื่อยกเลิกค่า AP โดยจะมีข้อเสนอที่น่าสนใจให้เอกชนยอมรับได้”

เขย่าธุรกิจพลังงานใหม่ \"ล้มเงินกินเปล่า\" ลดค่าไฟ

ทบทวนแผนพีดีพีใหม่

นอกจากนี้ จะต้องเข้าไปทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศใหม่ (พีดีพี) ภายใต้แผนพลังงานแห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำใหม่ เพื่อปรับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มีความเข้มข้นมากกว่าเดิม เนื่องจากประเทศไทยได้ทำข้อตกลงในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยในปี 2573 จะต้องปล่อยเพียง 333 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ก็จะไปทบทวนเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียง 300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2573 ซึ่งการตั้งโรงไฟฟ้าใหม่จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก รวมถึงการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ให้เกิดค่า AP จะดำเนินการอย่างไรด้วย

เดินหน้าเปิดโซลาร์เสรี

นายเดชรัต กล่าวอีกว่า ส่วนการเปิดเสรีโซลาร์เซลล์ เพื่อให้หลังคาบ้านที่อยู่อาศัย สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง ส่วนที่เหลือสามารถขายกลับเข้าระบบได้ สร้างรายได้ให้คนไทยทั้งประเทศได้นั้น การดำเนินงานจะเข้าไปแก้ไขระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาใหม่ (โซลาร์รูฟท็อป) โดยจะนำระบบ Net Metering ที่เป็นการหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าภายในหรือข้ามรอบบิลมาใช้ เมื่อผู้ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ใช้ไฟฟ้าในระบบช่วงตอนกลางคืน

“หลักการของ Net Metering เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปใช้เองช่วงกลางวัน โดยไม่มีค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย แต่ช่วงกลางคืนจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากระบบมาใช้ในอัตราค่าไฟฟ้า 4.70 บาทต่อหน่วย เมื่อนำหลักการนี้มาใช้ จะช่วยให้ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป สามารถนำหน่วยการใช้ไฟฟ้าช่วงตอนกลางวัน มาหักหน่วยการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 4.70 บาทต่อหน่วยได้ ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าช่วงกลางคืนลงได้”

ดังนั้น การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปด้วยระบบ Net Metering จะทำให้มีผู้สนใจลงทุนจำนวนมาก เพราะนอกจากจะลดภาระค่าไฟฟ้าของตัวเองลงได้มากแล้ว เมื่อมีไฟฟ้าเหลือจากการหักหน่วยใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกิน ตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนในปัจจุบัน ที่มีอัตราการรับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้อีกทางหนึ่งด้วย

การดำเนินงานของพรรคก้าวไกล หลังจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 100 วัน ที่จะไปแก้ระเบียบต่าง ๆ รวมทั้ง ปลดล็อกการขออนุญาตการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้มีความคล่องตัว หรือมีความสะดวกมากยิ่งขึ้นด้วย

นอกจากนี้ จะเร่งจัดหาแหล่งพลังงานในอนาคต ที่จะนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้รองรับช่วงการเปลี่ยนเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่เชื้อเพลิงสะอาด โดยจะเร่งเจรจากับกัมพูชาเรื่องเขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area: OCA) ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ต่อเนื่องในราคาที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดการหยุดชะงักต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

อนึ่ง จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” ในรายงานแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ พีดีพี พบว่า ในระยะ 5-10 ปีนี้ มีโรงไฟฟ้าของภาคเอกชน ที่กำลังจะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวนหลายราย อาทิ ปี 2567 จะมีโรงไฟฟ้าผู้ผลิตรายเล็กหรือเอสพีพี ที่หมดอายุรวมกัน กำลังผลิตราว 679.8 เมกะวัตต์ ปี 2568 มีโรงไฟฟ้าเอสพีพี กำลังผลิต 236 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าราชบุรี เครื่องที่ 1-2 กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์

 ปี 2570 มีโรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าราชบุรี ชุดที่ 1-3 กำลังผลิต 2,041 เมกะวัตต์ ปี 2571 มีโรงไฟฟ้า เอสพีพี กำลังผลิต 103 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าโกลว์ ไอพีพี กำลังผลิต 713 เมกะวัตต์ ปี 2572 มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยเฮาะ (สปป.ลาว.) กำลังผลิต 126 เมกะวัตต์ ปี 2575 มีโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี เพาเวอร์ ชุดที่ 1-2 กำลังผลิต 1,347 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้ากัลฟ์ เพาเวอร์ เจนเนอเรชั่น ชุดที่ 1 กำลังผลิต 734 เมกะวัตต์

ปี 2576 มีโรงไฟฟ้ากัลฟ์ เพาเวอร์ เจนเนอเรชั่น ชุดที่ 2 กำลังผลิต 734 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าราชบุรี เพาเวอร์ ชุดที่ 1-2 กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ เป็นต้น

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3888 วันที่ 18 -20 พฤษภาคม พ.ศ. 2566