โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนปี 67 โตต่อเนื่อง ตามกระแสการใช้ไฟฟ้าสีเขียว

23 พ.ย. 2566 | 12:09 น.

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมปี 2567 เติบโตตามกระแสการใช้ไฟฟ้าสีเขียว ท่ามกลางแรงหนุนจากต้นทุนโรงไฟฟ้าที่ต่ำลง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) และพลังงานลม (Wind) ปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ผลจากเป้าหมาย Net zero pathway ที่มีร่วมกันของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย นอกจากนี้ ยังหนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตตาม อาทิ แผงโซลาร์และอุปกรณ์กังหันลม รวมถึงโครงข่ายไฟฟ้า (Grids)

ตลาดการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของทั่วโลกยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง (ในปี 2567 ขยายตัว 29% ต่อปี) และทยอยเพิ่มบทบาทในการผลิตไฟฟ้าของโลก ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่

  • 1. การลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงาน Fossil ที่ราคามีความผันผวน (โดยเฉพาะในแถบแอฟริกา)
  • 2. แผนการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเกือบ 50% ภายในปี 2571 และเข้าสู่ Net zero ภายในปี 2593
  • 3. การอุดหนุนของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (Self-consumption)
  •  4. ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานอื่น ๆ ผนวกกับต้นทุนของแบตเตอรี่ ESS ที่ทยอยปรับตัวลดลง ช่วยลดข้อจำกัดในการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง

ทั้งนี้จากแนวโน้มการเติบโตข้างต้น เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในตลาด PPA ในต่างประเทศ เช่น ตลาดอินเดียและบางประเทศในแอฟริกา ที่การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เติบโตดีในอีก 5 ปีข้างหน้า ท่ามกลางศักยภาพของพื้นที่เหมาะสม และนโยบายสนับสนุนตลาด PPA (พิจารณาจาก PPA policy score ที่จัดทำโดย EY[1]) 
 

ในส่วนของตลาดไทย การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากแรงหนุนของตลาดที่ขายไฟให้ลูกค้าโดยตรง (Private PPA) และ Self consumption (ทั้งสองตลาดมีโอกาสเติบโตเร่งขึ้นอีกมาก หากภาครัฐให้การสนับสนุน เช่น นโยบาย TPA : Third Party Access & Wheeling charges[2])

นอกจากนี้ ตลาดที่ขายไฟให้ภาครัฐ (Public PPA) ยังมีโอกาสเติบโต ทั้งจากโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลเฟส 2 ราว 2.6 GW และแผน PDP ใหม่ที่คาดว่าอาจประกาศได้ในปี 2567 (ซึ่งเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในสิ้นปี 2580 อาจจะเพิ่มขึ้นจากแผน PDP2018Rev1 กว่า 200%)

ความต้องการใช้แผงโซลาร์ทั่วโลกเติบโตได้ดีตามตลาดการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยในปี 2567 ขยายตัวราว 24%YOY และขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะกลาง โดยเฉพาะตลาด Self consumption ที่กำลังเพิ่มบทบาทมากขึ้นและขยายตัวได้ดีกว่าตลาดโรงไฟฟ้า ในส่วนของแนวโน้มราคาแผงโซลาร์ในปี 2567 คาดว่ายังคงลดลงต่อเนื่อง เป็นผลมาจาก

  • 1. ราคา Polysilicon ที่ลดลงจากกำลังการผลิตต้นทุนต่ำที่มีมากขึ้น
  • 2. การแข่งขันที่มากขึ้นจากผู้เล่นรายใหญ่ที่กำลังกินส่วนแบ่งการตลาด และ
  • 3. การเข้าสู่ช่วงกลางของเทคโนโลยี (ช่วงที่การผลิตขนาดใหญ่ หรือ Mass-production level) ทำให้ต้นทุนต่อ Watt ต่ำลง ในระยะกลาง คาดว่าราคาจะลดลงต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลง ตามกำลังการผลิตที่เติบโตในอัตราที่ชะลอลง ผนวกกับแนวโน้มนโยบายกีดกันการค้าที่มีมากขึ้น

 

ความท้าทายของภาพรวมธุรกิจแผงโซลาร์

  • นโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจมีมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ใช้ภาษีนำเข้าเพื่อลดการเข้ามาแข่งขันของแผงโซลาร์นำเข้าจากจีนหรือจากประเทศที่จีนใช้เป็นฐานการผลิต เช่น ไทย และนำมาสู่การลงทุนและการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่มากขึ้น
  • ข้อจำกัดบางประการที่อาจส่งผลให้ตลาดเติบโตได้จำกัด อาทิ Grid bottleneck, การขาดแคลนแรงงานและพื้นที่สำหรับติดตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ราคาที่ดินอยู่ในระดับสูง (เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป)
  • การแข่งขันที่ยังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง (ทำให้ผู้ผลิตที่บริหารต้นทุนได้ดีกว่า ผนวกกับการกระจายตัวตลาดผู้ซื้อที่มากกว่าจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้)

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมีการเติบโตได้ดีที่ 14%YOY ในปี 2567 และขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 28% ในปี 2568-2570 ตามนโยบายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก ทำให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม รวมไปถึง Supply chain ของอุตสาหกรรมมีการเติบโตตามไปด้วย อาทิ การลงทุนใหม่ในการสร้างโรงงานผลิตกังหันลม (Blade) และห้องขับเคลื่อนกังหันลม (Nacelle) ในประเทศจีนของทั้ง On-shore wind และ Off-shore wind โดยคาดว่าจะมีการลงทุนในโรงงานใหม่โดยรวมมากถึง 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2569 และมากถึง 1.47 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 ขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมก็มีแนวโน้มลดลงซึ่งจะช่วยหนุนให้การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก โดยปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานลมทั่วโลก ทั้งที่ก่อสร้างรวมมากกว่า 5,000 โครงการและแผนโครงการใหม่อีกมากกว่า 1,700 โครงการ อย่างไรก็ดีกลุ่ม ASEAN ก็มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่มีภูมิประเทศที่มีศักยภาพและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่วนประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ยังเติบโตได้จากแผนพลังงาน (PDP2018 Rev.1) ที่มีเป้าหมายรวมประมาณรวม 2,989 MW (ทั้งนี้เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในแผน PDP ใหม่ที่คาดว่าจะประกาศในปี 2567 มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากแผน PDP2018 Rev.1)

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เติบโตสูง มีความจำเป็นต้องมีโครงข่ายไฟฟ้า (Grids) ที่สามารถรองรับการเติบโตของไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ดังนั้น การพัฒนา Grids จึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องพร้อมรองรับกับตลาดพลังงานหมุนเวียนทั้งในแง่ของโครงข่ายเชื่อมต่อ (Transmission) และการกระจายไฟฟ้า (Distribution) ซึ่งเม็ดเงินลงทุนเพื่อก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้า (Grids) ของโลกจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6-10% ในช่วง 2566-2573 ซึ่งเป็นหนึ่งในโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะใช้ประโยชน์จากการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศหรือ Connection ที่มีอยู่แล้วในต่างประเทศนอกเหนือจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโครงข่ายแล้ว การพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายให้มีความทันสมัย (Grid modernization) อาทิ Third Party Access (TPA) และ Smart grid หรือ Micro smart grid ที่จะเป็นส่วนส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น และมีต้นทุนการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่ถูกลง ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจตามนโยบายการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น

การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน นอกจากจะได้ซื้อขายไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดแล้ว โรงไฟฟ้ายังสามารถเพิ่มมูลค่าทางรายได้อื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ Renewable Energy Certificates (RECs) และ Carbon credit ที่ทางผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถนำมาเป็นส่วนเพิ่มรายได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันเอกชนเริ่มนำ RECs มาใช้เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอน (Carbon emission) ใน Scope II อย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 100% ในช่วงปี 2566-2567 สำหรับ Carbon credit ที่สามารถใช้ลด Emission ใน scope I,II และ III ก็มีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน โดยเฉพาะในไทยที่เริ่มมีการซื้อขายในตลาดเสรี และมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นถึง 103%(CAGR) ในปี 2559-2566

อ่านรายงานฉบับเต็ม : คลิกที่นี่