energy

"พลังงาน"ดีเดย์ใช้"ไฟฟ้าสีเขียว"ที่แรกอาเซียนเดือน ก.พ.67

    "พลังงาน"ดีเดย์ใช้"ไฟฟ้าสีเขียว"ที่แรกอาเซียนเดือน ก.พ.67 หลัง กกพ.ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไปแล้ว หนุนนโยบายรัฐ ดึงดูดนักลงทุน ลดการกีดกันภาษีคาร์บอน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในเดือน ก.พ.2567 กระทรวงพลังงานจะประกาศอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวไปแล้ว

ทั้งนี้ ต้องถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว โดยมีทั้งกระบวนการผลิต จัดหา และการรับรองไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ 

อีกทั้งยังรวมถึงบริษัทข้ามชาติ ที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย และจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย กำจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ได้เป็นอย่างดี โดยมั่นใจว่าจะมีไฟฟ้าสีเขียวในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ
 

นอกจากนี้ รัฐบาลเล็งเห็นถึงความต้องการใช้พลังงานสีเขียวของภาคธุรกิจ รวมถึงพันธกิจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนภาคพลังงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งขณะนี้สามารถจัดให้มีการให้บริการสองรูปแบบ ทั้งแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้ 

"พลังงาน"ดีเดย์ใช้"ไฟฟ้าสีเขียว"ที่แรกอาเซียนเดือน ก.ย. 67

อย่างไรก็ดี กกพ. จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการไฟฟ้าสีเขียว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับรู้แหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการได้ พร้อมระบบใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวทุกกลุ่ม

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอรองรับแนวโน้มความต้องการพลังงานสะอาดของความภาคอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติ นอกจากจะเป็นการการยกระดับภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ สร้างโอกาสให้กับประเทศในการเป็นฐานการผลิตรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio Circular-Green (BCG) โดยมีผู้ร่วมโครงการ 60,000 โรงงานจาก 70,000 โรงงาน  และภายใต้โครงการ  Utility Green Tariff (UGT) ของภาครัฐ จะเป็นการต่อยอดและยกระดับอุตสาหกรรม สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้มากยิ่งขึ้น 

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกกพ.กล่าวว่า ที่ผ่านมา กกพ.ได้มีนโยบายเตรียมความพร้อมจัดหาไฟฟ้าสีเขียวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ 

ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล 

ขณะนี้การคำนวณอัตราราคาเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว  และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว และเตรียมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในช่วงเดือนม.ค. 2567 นี้ สำหรับขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวนั้น การไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ให้บริการในแต่ละพื้นที่จะประกาศให้ทราบต่อไป

“เรื่องค่าบริการไม่น่าเป็นเรื่องหลักของไฟฟ้าสีเขียว แต่เรื่องความเสถียรภาพของการให้บริการมากกว่าที่นักลงทุนมอง โดยมั่นใจว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบและถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย”

การประกาศโครงการ UGT นับเป็นจุดเริ่มต้นโดยภาครัฐ เพื่อให้ผู้ให้บริการพลังงานทุกภาคส่วนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันในระยะเริ่มต้น อาจยังมีข้อจำกัด โดย กกพ. เล็งเห็นว่าจะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคสุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นและปรับปรุงข้อจำกัดต่าง ๆ ในระยะถัดไปได้ ซึ่งอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงต้องได้รับความเห็นและเสียงสะท้อนจากผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวด้วย

"พลังงาน"ดีเดย์ใช้"ไฟฟ้าสีเขียว"ที่แรกอาเซียนเดือน ก.ย. 67

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 250 ล้านตันต่อปี โดย 100 ล้านตัน มาจากภาคการไฟฟ้า มีการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน และภายในปี 2080 จะมีการใช้พลังงานหมุนเวียน 80% โดยส่วนใหญ่มาจากโซลาร์เซลล์ ประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ 

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่กนอ.ดูแล รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมมาบตะพุด  มีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มาประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ 

นายคมกฤช คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวเบื้องต้นที่คำนวณเพื่อจะนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในเดือนม.ค. 2567 โดยคำนวณราคาค่าไฟไว้ที่ 4.55 บาทต่อหน่วย ที่น่าจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสม มารับฟังความเห็นีฯ โดยตัวเลขต่างๆ มีการรวบรวมจากค่าบริการของต่างประเทศที่ได้มีการประกาศใช้ไปแล้วด้วย