ความท้าทายของอุตสาหกรรมธุรกิจ Plant-Based Food ในไทย

19 ธ.ค. 2566 | 15:55 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2566 | 16:52 น.
619

เปิดผลสำรวจ ความกังวลต่อการบริโภค "Plant-Based Food" ทั้งด้านราคา การแปรรูป และการเข้าถึงร้านค้า หนุนอุตสาหกรรมธุรกิจและเกษตกรควรได้รับการสนับสนุนที่ดีกว่านี้

จากงานวิจัยล่าสุดของ Madre Brava องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน และรายงานการสำรวจผู้บริโภคไทยเกี่ยวกับแนวโน้มและทิศทางการบริโภคอาหารของผู้บริโภคไทยมากกว่า 1,500 คน พบว่า 67% ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ภายใน 2 ปี ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสัตว์ ประกอบกับความต้องการที่จะเปลี่ยนมาบริโภคโปรตีนจากพืชและโปรตีนทางเลือกแทน โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารที่ทำจากโปรตีนพืชมีเพิ่มขึ้น 

แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยราคาที่สูงกว่าเนื้อสัตว์ในปริมาณที่เท่ากัน สถานที่จัดจำหน่ายเข้าถึงยาก ไม่สามารถหาซื้อได้ตามใกล้ที่พักอาศัย รวมถึงผู้คนยังมีความกังวลที่เกี่ยวกับการแปรรูปสูงของอาหารเหล่านี้ ทำให้ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภค ที่ยังรอให้ภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุน

จากรายงานการสำรวจผู้บริโภคไทยโดยสำนักวิจัย Northstar / HarrisX เผยความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับความกังวลต่อการบริโภคโปรตีนทางเลือก โดยแยกออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 

  • ผู้ที่ต้องการบริโภคอาหารจากพืช เช่น ถั่วและเมล็ดพืช มากกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป 
  • โปรตีนทางเลือกมีราคาสูงเกินไป 
  • โปรตีนทางเลือกผ่านกระบวนการแปรรูปสูง 
  • โปรตีนทางเลือกไม่ได้มีจำหน่างตามร้านค้าทั่วไป ที่ผู้บริโภคจะเข้าถึงได้โดยง่าย

ความท้าทายของโปรตีนทางเลือกและข้อจำกัดในมุมมองของผู้บริโภค - Madre Brava

หากโปรตีนทางเลือกราคาถูกลงและเข้าถึงง่ายขึ้น ร้านอาหารตามสั่งก็จะมีเมนูให้เลือกมากขึ้น

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ Madre Brava ระบุว่า หากสามารถทำให้โปรตีนทางเลือกมีราคาถูกลง คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โปรตีนทางเลือกจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในเมนูของร้านอาหารตามสั่ง นอกเหนือจากเนื้อสัตว์ต่างๆ คนที่อยากกินอาหารที่ให้รสชาติแบบเนื้อสัตว์อยู่ก็จะสามารถสั่งโปรตีนทางเลือกได้ รวมถึงยังสามารถสั่งเมนูที่ผสมระหว่างโปรตีนทางเลือกกับเนื้อสัตว์ได้อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลดีมากกว่าการทานเนื้อสัตว์อย่างเดียว

“โปรตีนทางเลือก” ควรได้ปรับลดภาษี เพิ่มการลงทุน และการสนับสนุนด้านการผลิตของเกษตรกร

กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นด้วยกับการสนับสนุนโปรตีนทางเลือก ต้องการเห็นถึงการปรับการจัดเก็บภาษี เพื่อให้ราคาสินค้าถูกลง พร้อมแสดงการสนับสนุนอยากให้เพิ่มการลงทุนเพื่อการเกษตร การวิจัยและเพื่อสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกให้เข้าถึงผู้บริโภคและกำหนดแนวทางสำหรับผู้ค้าอาหาร ให้ปฎิบัติตามแนวทางโภชนาการเพื่อสุขภาพ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค อาทิ ความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ พร้อมชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของอาหารทางเลือกอื่นๆ 

กลุ่มเป้าหมายสนับสนุนให้เพิ่มการลงทุนและลดภาษีสำหรับโปรตีนทางเลือก - Madre Brava

โอกาสสำคัญทางภาคธุรกิจโปรตีนจากพืชและอุตสาหกรรมอาหารของไทย

ปัจจุบันมีความจำเป็นที่อย่างยิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องแก้ไขปรับปรุงข้อจำกัด ต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การบริโภคที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนขึ้น พร้อมทั้งสร้างโอกาสการเติบโตของภาคการผลิตอาหารของไทย หากรัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนการผลิตโปรตีนจากพืชและโปรตีนทางเลือกอย่างจริงจัง ทั้งสำหรับการบริโภคในประเทศและการส่งออก ก็จะสามารถสอดรับกับทิศทางทั้งตลาดภายในและตลาดส่งออก เราจำเป็นต้องอ่านเกมให้ทันและเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ตอนนี้ ไม่อย่างนั้นอาจตกขบวนและเสียโอกาสไป

นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่ได้ผลิตอาหารเพื่อบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารสำคัญของโลกด้วย ถ้าเรามีการปรับสัดส่วนและมีอาหารที่เป็นโปรตีนจากพืชมากขึ้น ก็จะทำให้เราสามารถมีอาหารที่ดี มีคุณภาพ ในราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ ไม่เฉพาะคนไทย แต่รวมถึงผู้บริโภคในตลาดส่งออก ซึ่งจะเป็นบทบาทสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสและมีที่ยืนในระดับสากล นายจักรชัยเสริม 

เทคโนโลยีด้านอาหารของประเทศไทยไม่เป็นรองใคร
ประเทศไทยเรามีเทคโนโลยีด้านอาหาร เราเป็นผู้เล่นระดับต้นๆ ของโลก ยิ่งเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรและขนาดประเทศแล้ว ตนมองว่าประเทศไทยไม่เป็นรองใคร ดังนั้น ถ้าต้องการพัฒนาต่อยอดด้านใด ควรพิจารณาถึงศักยภาพที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นในระดับสากลด้วย นายจักรชัยกล่าว

การเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอาหารยั่งยืน ต้องอาศัยการวิจัยและส่งเสริมเกษตรกร 

“โปรตีนจากพืช” อาหารแห่งอนาคต (Future food) โปรตีนจากพืช เป็นส่วนหนึ่งของอาหารแห่งอนาคต หากเราต้องการเป็นครัวของโลก แนวทางนี้จะทำให้เราเป็นผู้นำเรื่องอาหารได้ และเนื่องจากการเจรจาล่าสุดที่ COP28 ได้มีการบรรจุวาระเรื่องอาหารเข้ามาอย่างเป็นทางการแล้ว มีแนวโน้มว่าการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ด้านอาหารของโลกกำลังจะมาถึง เชื่อว่าเพียงไม่นานเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสร้างปฏิสัมพันธ์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตอาหารได้อีกต่อไป 

ในอนาคตอันใกล้ ภาคเกษตรจะกลายเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่งของสหภาพยุโรป ส่งผลให้ตลาดส่งออกของไทยจำนวนมากเริ่มมีมาตรการทางการค้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนั้น ไทยควรมองไปข้างหน้า มีการลงทุนทำวิจัย และส่งเสริมเกษตรกร เพื่อให้ได้เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอาหารยั่งยืน ที่สำคัญคือ เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่านนี้ด้วย

 

ขอบคุณที่มา :  Madre Brava , รายงานการสำรวจผู้บริโภคไทย