ส่องเทรนด์ "บริโภคโปรตีน" คนไทยเน้นพืชผัก-ลดเนื้อสัตว์

18 ธ.ค. 2566 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2566 | 15:02 น.

งานวิจัย Madre Brava เปิดเผยว่า ผลสำรวจจากคนไทยมากกว่า 1,500 คน 67% ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และปรับเปลี่ยนไปบริโภคโปรตีนทางเลือกจากพืชภายใน 2 ปี

Madre Brava องค์กรที่มุ่งรณรงค์ด้านอาหาร ฟาร์ม และป่าไม้ โดยมีเป้าหมายให้ทุกคนได้รับอาหารที่สะอาด ราคาไม่แพง และดีต่อสุขภาพแบบ 100% เปิดเผยงานวิจัยล่าสุดจากรายงานการสำรวจผู้บริโภคไทย ที่ได้มีการสำรวจแนวโน้มและทิศทางการบริโภคอาหารของผู้บริโภคไทยมากกว่า 1,500 คน จากผลลัพธ์พบว่า 67% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ภายใน 2 ปี ด้วยเหตุผลด้านต่างๆ ได้แก่

  • ด้านสุขภาพ
  • สิ่งแวดล้อม
  • สวัสดิภาพสัตว์

ทั้งนี้ การจะเพิ่มการบริโภคในส่วนของโปรตีนทางเลือกนั้นยังมีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องของราคา การเข้าถึง ความหลากหลายและคุณภาพสินค้า ที่พร้อมรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค และจากการวิจัยระบุว่า การลดบริโภคเนื้อสัตว์ไม่ได้เป็นการบริโภคโปรตีนลดลง เพียงแต่ต้องการลดการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และหันไปบริโภคโปรตีนจากพืชแทน ยกตัวอย่างเช่น โปรตีนจากพืชที่ไม่แปรรูปหรือผ่านการแปรรูปเบื้องต้นอย่าง เห็ด ถั่ว เต้าหู้ และโปรตีนทางเลือก อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชและมีลักษณะเป็นเนื้อสัตว์ หรือที่รู้จักในชื่อ Plant-Based Food 

จากสัดส่วน 56% ของผู้ที่ต้องการลดบริโภคเนื้อสัตว์ แบ่งออกเป็น 29% จะทดแทนด้วยการบริโภคโปรตีนทางเลือก และ 28% จะทดแทนด้วยการบริโภคโปรตีนทางเลือกผสมผสานกับโปรตีนจากพืชต่างๆ ส่วนอีก 44% จะเน้นบริโภคโปรตีนจากพืชต่างๆ อาทิ ถั่ว งา และเต้าหู้

56 % ของผู้ที่ต้องการลดบริโภคเนื้อสัตว์ ทดแทนด้วยโปรตีนทางเลือกและโปรตีนจากพืชต่างๆ - Madre Brava

คนไทยต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ Madre Brava องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการลดผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนและสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชากร เปิดเผยว่า จากตัวเลขล่าสุดจะเห็นได้ชัดว่า ผู้บริโภคไทยเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพสูง เมื่อเทียบกับหลายประเทศ

และตระหนักว่าการลดเนื้อสัตว์พร้อมการบริโภคโปรตีนจากพืชทดแทนจะมีผลดี ซึ่งประจวบเหมาะกับความจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงของการผลิตโปรตีนจากสัตว์ 

บทบาทของ Madre Brava 

การสร้างองค์ความรู้และผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีความยั่งยืน คือบทบาทที่ Madre Brava มุ่งดำเนินการศึกษาวิจัยและประยุกต์ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ต่างๆ รวมถึงมุ่งสื่อสารองค์ความรู้และสร้างบทสนทนากับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้ตระหนักถึงโอกาสและเห็นความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ผลิต และบริโภคโปรตีนที่ยั่งยืน

โอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ด้านอาหารจากโปรตีนพืช ยังรอภาครัฐและเอกชนสนับสนุน

การที่ยอดขายของอาหารจากโปรตีนพืชอาจชะลอตัวในบางส่วนนั้น วิเคราะห์ได้ว่า เป็นปัจจัยด้านราคา การเข้าถึง ความหลากหลายและคุณภาพสินค้า เป็นสัญญาณสำคัญให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นถึงประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ และมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมที่เหมาะสม ซึ่งก็จะสอดคล้องกับทิศทางการบริโภค และแนวโน้มนโยบายการค้าในตลาดส่งออกของไทย นายจักรชัย ระบุ

คนไทยต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง แต่โปรตีนทางเลือกมีราคาสูง

Madre Brava ทำการสำรวจผู้บริโภคไทย 1,500 คน จากกลุ่มตัวอย่างมีความหลากหลายของอายุ เพศ ภูมิภาค การอาศัยเขตเมือง-ชนบท กลุ่มรายได้ การศึกษา โครงสร้างครอบครัว ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผ่านทางสำนักวิจัย Northstar / HarrisX ซึ่งช่วยทำให้เห็นถึงทิศทางการบริโภคของไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ถึงผู้บริโภคจะตระหนักถึงประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่โปรตีนทางเลือกก็ยังถูกมองว่ามีราคาแพง และผ่านกระบวนการแปรรูปที่สูง

67% ต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลงภายใน 2 ปี   

มากถึง 67% ระบุว่าต้องการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงภายใน 2 ปี แม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเลิกกินเนื้อสัตว์ไปโดยสิ้นเชิง แต่เปอร์เซนต์ดังกล่าวถือเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากชี้ให้เห็นว่า ผู้คนต้องการหันไปบริโภคโปรตีนจากพืชทั่วไปและโปรตีนทางเลือก เช่น โปรตีนพืชที่ผลิตออกมาในลักษณะแบบเดียวกับเนื้อสัตว์ 

41% ของผู้ที่เคยบริโภคโปรตีนทางเลือกแล้ว ยังมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น

จากผลสำรวจยังพบว่า กว่า 41% ของผู้ที่เคยบริโภคโปรตีนทางเลือกแล้ว ยังต้องการที่จะบริโภคเพิ่มขึ้น และอีก 43% มีความต้องการที่จะบริโภคโปรตีนทางเลือกในระดับเดิม ทั้งนี้ มี 11% ต้องการลดปริมาณการบริโภคโปรตีนทางเลือกลง และอีก 5% ต้องการหยุดบริโภคหรือลดปริมาณลงอย่างมีนัยสำคัญ 

41% ของผู้ที่เคยบริโภคโปรตีนทางเลือกแล้ว ยังมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น - Madre Brava ราคาและความกังวลด้านการแปรรูป อุปสรรคสำคัญต่อแนวโน้มการบริโภคโปรตีนทางเลือก

อุปสรรคสำคัญคือ ราคาที่สูงกว่าเนื้อสัตว์ในปริมาณที่เท่ากัน นอกจากนี้ ในส่วนของผู้บริโภคทั่วไปก็ยังมีความกังวลในเรื่องของการแปรรูปอาหาร รวมถึงการเข้าถึงของผู้บริโภคที่ไม่สามารถหาซื้อโปรตีนทางเลือกใกล้ที่พักอาศัย หรือร้านค้าที่ซื้อเป็นประจำได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของเกษตรกรและกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารจากโปรตีนพืชและโปรตีนทางเลือก ที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนา ปรับเปลี่ยน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาดต่อไป

 

ขอบคุณที่มา : Madre Brava , รายงานการสำรวจผู้บริโภคไทย