Plant-Based อาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ ที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้

24 ส.ค. 2566 | 17:10 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2566 | 19:06 น.
552

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหันมาตีตลาด Plant-Based เพิ่มมากขึ้น ตามพฤติกรรมการบริโภคและความต้องการที่เปลี่ยนไป จนกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Plant-Based หรืออาหารที่มีพื้นฐานทำมาจากพืชกันจนคุ้นหูแล้ว เนื่องจากอาหารประเภทนี้เข้ามาเปิดตัวในตลาดไทยสักพักใหญ่แล้ว โดยแรกเริ่ม Plant-Based Food มีกระแสมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน

แม้ในช่วงสิบปีที่แล้วจะยังไม่ค่อยได้กระแสตอบรับที่ดีนัก แต่เมื่อผู้คนเริ่มเปิดใจและมีความใส่ใจในการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น อีกทั้งยังมีกลุ่มของผู้ที่บริโภคมังสวิรัติ อาหารเจ หรือผู้ที่อยากลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับอาหาร Plant-Based ในปัจจุบันมีตัวเลือกที่หลากหลาย จึงไม่ยากที่ผู้บริโภคจะหันมาให้ความสนใจ และมีกระแสนิยมแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศฝั่งยุโรปหรือเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย และอีกมากมาย

 

Plant-Based ทำมาจากอะไรบ้าง

Plant-Based เป็นอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ โดยจะทำมาจากพืชที่มีโปรตีนสูง อาทิ 

  • ถั่วชนิดต่างๆ - อัลมอนด์ วอลนัท ถั่วเหลือง ถั่งแดง และเมล็ดทานตะวัน
  • ธัญพืช - ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี ควีนัว ข้าวบาเลย์ และลูกเดือย
  • เห็ด - เห็ดหอม เห็ดโคน เห็ดนางฟ้า และเห็ดออรินจิ
  • ผักสีเขียว - บร็อกโครี ผักกาดหอม กระหล่ำดอก หน่อไม้ฝรั่ง และผักโขม
  • พืชหัว - กระเทียม หัวหอม มันฝรั่ง แครอท ฟักทอง และบีทรูต
  • ผลไม้ - มะเขือเทศ กล้วย แอปเปิ้ล ส้ม และอะโวคาโด

 

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Plant-Based

ช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้แต่ละประเทศมีมาตรการคุมเข้มและงดให้ผู้คนเดินทางออกจากที่พักอาศัยหากไม่จำเป็น เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ และป้องกันไม่ให้ตัวเลขของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น หลายๆ บ้านจำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วยการประกอบอาหารทานเอง 

และจากสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงที่กระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้ผู้คนมีความตระหนักในเรื่องของโภชนาการ และเลือกรับประทานกันมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้ดีขึ้น แม้สถานการณ์ของโควิด-19 หลังจากนั้นจะผ่อนคลายลง แต่กระแสความนิยมของ Plant-Based ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เปลี่ยนจากการซื้อวัตถุดิบอาหารจากพืชมาทำเอง เป็นออกไปรับประทานอาหารในร้านที่มีเมนู Plant-Based กันมากขึ้นนั่นเอง

 

ธุรกิจอาหาร Plant-Based ยั่งยืนจริงหรือไม่? 

จากกระแสการทาน Plant-Based ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละนิด ประกอบกับผู้คนเริ่มสนใจรับประทานอาหารตามร้านที่มีเมนู Plant-Based อยู่เรื่อยๆ แล้ว นอกจากผู้ประกอบการจะสามารถขายวัตถุดิบในร้านค้าสำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่ซื้อไปปรุงอาหารเองแล้ว ยังสามารถขายให้กับลูกค้าที่ประกอบกิจการร้านอาหารได้อีกด้วย 

 

คุณวิภู เลิศสุรพิบูล ผู้ร่วมก่อตั้ง มีท อวตาร ผลิตภัณฑ์เนื้อจำแลงที่ผลิตจากพืชเผยว่า ตอนนี้เทรนด์เปลี่ยนไปแล้ว จากที่ลูกค้าซื้อวัตถุดิบจากร้านค้าไปทำอาหารทานเอง กลายมาเป็นลูกค้าร้านอาหารค่อนข้างเยอะ เพราะพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป ร้านอาหารเริ่มให้ผลตอบรับกับ Plant-Based ดีมากขึ้น จากที่ไม่รู้ว่า Plant-Based คืออะไร หลายร้านเริ่มหันมาให้ความสนใจจำหน่ายอาหารประเภทนี้กันมากขึ้น

 

คุณภริศรา นวนิธิกุล Business Development Manager บริษัท ยู ดี เซิร์ท สตอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ UOAT (ยูโอ๊ต) นมจากพืชที่สกัดจากข้าวโอ๊ตออร์แกนิก 100% มองว่า Plant-Based ไม่ใช่แค่กระแสที่มาแบบฉาบฉวย เพราะการใส่ใจสุขภาพของคนเป็นเทรนด์ที่อยู่ในระยะยาว และเทรนด์นี้ก็เติบโตขึ้นมากหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กลุ่มผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพอย่าง Plant-Based เติบโตขึ้นอย่างมากเช่นกัน

ทั้งยังบอกอีกว่า ในวันนี้กลุ่มคนที่บริโภคสินค้าเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นวีแกน(ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ)แบบ 100% เท่านั้น จากที่บางคนมีการทานมังสวิรัติในวันเกิด วันพระ หรือในโอกาสต่างๆ จะเห็นว่ามีความยืดหยุ่นในการรับประทานมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีอาหาร Plant-Based ที่มีคุณค่าทางสารอาหารและมีลูกเล่นใหม่ๆ ออกมาเป็นทางเลือกให้คนที่บริโภค Plant-Based หรือมังสวิรัติมากขึ้นไม่เหมือนที่ผ่านมาแล้ว

 

Chart การบริโภค Plant-Based ในผู้บริโภคทั่วไปและกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น

 

โอกาสในการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ Plant-Based 

แม้ในธุรกิจสาย Plant-Based จะมีผู้แข่งขันในตลาดสูง แต่ด้วยเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละแบรนด์ ไม่ว่าจะแบรนด์เล็กหรือใหญ่ อาทิ คุณค่าทางโภชนาการ วัตถุดิบ สูตร รสชาติ กลิ่น ภาพลักษณ์และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคมีความต้องการหรือความชอบในรสชาติและการนำเสนอแบบไหน

 

คุณอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Plant-Based ว่า Plant-Based เป็นตลาดที่เน้นการแข่งขันในการสร้างความต้องการใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งจะเน้นไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผ่านนวัตกรรมของสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยมีมาก่อนในตลาด มากกว่าไปแข่งขันในเรื่องของราคา ดังนั้น หัวใจสำคัญของการแข่งขันคือการสร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ยังไม่เคยมีใครเข้าถึงมาก่อน 

และยังแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละช่วงอายุอยู่เสมอ เพื่อทำความเข้าใจกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และนำมาวิเคราะห์เพื่อต่อยอดในการทำการตลาดให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่น่านำมาใช้ร่วมกันคือ กลยุทธ์ Green Ocean ที่จะมุ่งเน้นไปทางกลุ่มเป้าหมายที่อนุรักษ์ธรรมชาติโดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องผลิตสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก ลดการใช้ทรัพยากร และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ก็น่าจะตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมายและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคอยู่กับแบรนด์ได้ในระยะยาว

 

Plant-Based สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร? 

นอกจากผู้คนจะหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้นแล้ว หลายคนเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน และตระหนักได้ว่าการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มมีส่วนทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มเรียนรู้และหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหาร Plant-Based มากขึ้น ทำให้เข้าใจว่า

 

เนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชก็เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น และมีรสชาติที่เหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ ตลอดจนสามารถช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอาหารที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

 

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University Of Oxford) แสดงให้เห็นว่า การผลิตปศุสัตว์ขนาดใหญ่นั้นปล่อยก๊าซคาร์บอน และจำเป็นต้องใช้พื้นที่มหาศาล จึงมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ของฟาร์ม และในด้านของการเกษตรก็ต้องใช้น้ำจำนวนมากเพื่อเลี้ยงดูสัตว์อีกด้วย

ซึ่งทุกขั้นตอนของการผลิตเนื้อสัตว์ล้วนใช้ทรัพยากรและปล่อยของเสียทั้งสิ้น ทั้งการใช้น้ำ พลังงานในการเลี้ยงสัตว์ การทำความสะอาดโรงฆ่าสัตว์ การขนส่งอาหารและเนื้อสัตว์ รวมถึงการแปรรูปอาหาร 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การลดการบริโภคเนื้อสัตว์และนมอาจเป็นกุญแจสำคัญใน “วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากภูมิภาคนี้ต้องการยุติภาวะโลกร้อน จะต้องลดการผลิตโปรตีนจากสัตว์ และเปลี่ยนไปใช้โปรตีนจากพืช กันให้มากขึ้น

 

ซึ่งหากประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการผลิตและการพัฒนาโปรตีนทางเลือก ผลตอบแทนที่มีผลกับสภาพอากาศอาจมหาศาล

 

 

แหล่งที่มา :

SME Thailand Club 

  • นิตยสาร SME STARTUP issue 109 - Plant-based is now โอกาสที่ต้องคว้า 

The Good Food Institude

  • ข้อมูล Chart เกี่ยวกับการบริโภค Plant-Based Food ในผู้บริโภคทั่วไปและกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น