รู้หรือไม่? โปรตีนทางเลือกอาหารของคนรักสุขภาพยุคใหม่

21 เม.ย. 2566 | 01:40 น.

 เกาะกระแสตลาดโปรตีนทางเลือก อาหารของคนรักสุขภาพ โอกาสใหม่ทางธุรกิจไทย สนค.ชี้พฤติกรรมผู้บริโภคยังสนใจโปรตีนทางเลือก ดันมูลค่าตลาดมีโอกาสเพิ่มขึ้น8% ต่อปี ในปี 2567 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าปัจจุบันโปรตีนทางเลือก (alternative protein) ที่มีแหล่งโปรตีนมาจากพืช สาหร่าย แมลง เชื้อราที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยง ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของสุขภาพ ด้วยการลดหรือเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ ประกอบกับมีเทคโนโลยีในการพัฒนา คิดค้นอาหารทางเลือก เพื่อมาทดแทนกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

สนค. ได้ติดตามสถานการณ์โปรตีนทางเลือก อาหารของคนรักสุขภาพ ที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้วยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจอีกทางหนึ่งด้วย

 

ทั้งนี้ โปรตีนทางเลือกยังมีสารอาหารครบถ้วน เพราะมีการเติมสารอาหารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ มีรสชาติอร่อย และมีกลิ่น เนื้อสัมผัสใกล้เคียงกับโปรตีนแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนแบบดั้งเดิมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 15% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก และจากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่าปริมาณการปล่อยมีเทนจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ 650 ล้านคัน

รู้หรือไม่? โปรตีนทางเลือกอาหารของคนรักสุขภาพยุคใหม่

“ความนิยมของโปรตีนทางเลือกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในยุโรป จากรายงานของ Globenewswire ให้รายละเอียดอย่างน่าสนใจถึงตลาดโปรตีนทางเลือกของยุโรปในช่วงปี 2566-2571 มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และมีการแข่งขันที่สูง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่สนใจโปรตีนทางเลือก ซึ่งในปี 2564 มีมูลค่ามากถึง 1,906.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในช่วงปี 2566-2571 จะขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 20.2 ต่อปี อีกทั้งตลาดโปรตีนทางเลือกในยุโรปจะมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของการบริโภคโปรตีนทางเลือกทั่วโลกภายในปี 2578 โดยได้แรงหนุนจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและกำลังซื้อที่ขยายตัว ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคโปรตีนทางเลือกในยุโรป คือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญกับสุขภาพ”

รู้หรือไม่? โปรตีนทางเลือกอาหารของคนรักสุขภาพยุคใหม่

ตลาดโปรตีนทางเลือกในยุโรปพัฒนาอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเร่งการผลิตโปรตีนทางเลือกให้มีความพอเพียง อาทิ รัฐบาลประเทศเดนมาร์ก มีนโยบายที่จะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ ก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชของโลก ทำให้มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช และจัดตั้งกองทุน “The Plant Fund” เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช ให้สอดคล้องกับความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

สำหรับประเทศไทย สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ มาผลิตและแปรรูปเป็นโปรตีนทางเลือก อาทิ พืช เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย ขนุนอ่อน ไข่ผำ และแมลง เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน หนอนไหม ในปี 2564 การบริโภคโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ของไทย

รู้หรือไม่? โปรตีนทางเลือกอาหารของคนรักสุขภาพยุคใหม่

มีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท  หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของตลาดโปรตีนทางเลือกทั้งหมดของไทย ที่มีมูลค่า 3.62 หมื่นล้านบาท และมูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกมีโอกาสเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปี จนขยับไปสู่ 5,670 ล้านบาทได้ภายในปี 2567 

อย่างไรก็ตามตลาดโปรตีนทางเลือก ยังมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากพฤติกรรมแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ประกอบกับประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย และเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้ผลิตและพัฒนานวัตกรรมโปรตีนทางเลือกให้เป็นที่ต้องการของตลาด อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบ มาตรฐานส่งออกของคู่ค้าแต่ละประเทศด้วย

ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งรัดผลักดันการส่งออกสินค้าที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะอาหารแห่งอนาคต (future food)  อาทิ โปรตีนทางเลือกจากพืช (plant-based) และแมลง (insect-based) ไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่ความต้องการบริโภคสินค้าโปรตีนทางเลือกยังมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก จึงเป็นโอกาสของการส่งออกของไทยต่อไปในอนาคต