การศึกษาชี้ “สภาพอากาศสุดขั้ว” อาจกระตุ้นการรุกรานของ “สัตว์ต่างถิ่น”

12 พ.ย. 2566 | 16:30 น.

การศึกษาชี้ “สภาพอากาศสุดขั้ว” อาจกระตุ้นการรุกรานของ “สัตว์ต่างถิ่น” นำสู่การคุกคามครั้งใหญ่ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บทความล่าสุดจากคณะนักวิทยาศาสตร์ที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ อีโคโลจี แอนด์ อีโวลูชัน (Nature Ecology & Evolution) ระบุว่า สายพันธุ์สัตว์พื้นเมืองเปราะบางต่อสภาพอากาศสุดขั้วมากกว่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์สัตว์ต่างถิ่นทั่วโลก

การค้นพบข้างต้นชี้ให้เห็นว่าสภาพอากาศสุดขั้ว อาทิ อุทกภัย ภัยแล้ง พายุ คลื่นความร้อน และคลื่นความเย็น อาจกระตุ้นการรุกรานของสายพันธุ์สัตว์ต่างถิ่น นำไปสู่การคุกคามครั้งใหญ่ต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก

นักวิจัยจากสถาบันสัตววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และอื่นๆ สร้างชุดข้อมูลที่ประกอบไปด้วยสายพันธุ์สัตว์ต่างถิ่น 187 สายพันธุ์ และสายพันธุ์สัตว์พื้นเมือง 1,852 สายพันธุ์ ทั่วทั้งระบบนิเวศบนบก น้ำจืด และทะเล และวิเคราะห์การตอบสนองของพวกมันต่อสภาพอากาศสุดขั้วประเภทที่แตกต่างกัน

ทีมวิจัยพบว่าสายพันธุ์สัตว์พื้นเมืองแสดงการตอบสนองต่อสภาพอากาศสุดขั้วในเชิงลบมากกว่าในภาพรวม เมื่อเทียบกับสายพันธุ์สัตว์ต่างถิ่น ถึงแม้ว่าการตอบสนองเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศและถิ่นที่อยู่

 

บทความระบุว่าสายพันธุ์สัตว์ทางทะเลทั้งหมดที่รวมอยู่ในชุดข้อมูลดังกล่าวไม่เปราะบางต่อสภาพอากาศสุดขั้วในภาพรวม ยกเว้นผลกระทบเชิงลบของคลื่นความร้อนที่มีต่อหอย ปะการัง และดอกไม้ทะเลสายพันธุ์พื้นเมือง

สายพันธุ์สัตว์พื้นเมืองได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อน คลื่นความเย็น และภัยแล้งในระบบนิเวศบนบก และเปราะบางต่อสภาพอากาศสุดขั้วส่วนใหญ่ ยกเว้นคลื่นความเย็นในระบบนิเวศน้ำจืด ขณะที่สัตว์ต่างถิ่นบนบก และสัตว์ต่างถิ่นในน้ำจืด ตอบสนองเชิงลบเฉพาะต่อคลื่นความร้อน และพายุ ตามลำดับ

แฟ้มภาพซินหัว : ผืนดินแห้งแล้งในย่านชานเมืองของกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมน วันที่ 25 ส.ค. 2023