หลังจากที่นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เรื่อง การตีความข้อบังคับของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างเคร่งครัด เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66
โดยล่าสุด กลต. ได้ทำหนังสือตอบกลับถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับข้อร้องเรียนดังกล่าว ลงชื่อนางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการเลขาธิการแทน โดยมีข้อความระบุว่า
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ("สำนักงานก.ล.ต.") ได้รับหนังสือร้องเรียน กรณีขอให้สำนักงาน ก.ล.ต. นำเรื่องการตีความข้อบังคับของบริษัทท่านเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระงับยับยั้งการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผลจากการตีความข้อบังคับที่ผิดไปจากลายลักษณ์อักษรของบริษัทท่านความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
สำนักงาน ก.ล.ต. ขอเรียนว่าคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทท่านต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยต้องดำเนินกิจการของบริษัทด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับบริษัท เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม และหากมีเหตุที่จะต้องตีความข้อบังคับให้พิจารณาตามความประสงค์ในทางสุจริตเป็นสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/7 พบว่า
พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/7 บัญญัติว่า ในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติ หน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดโทษกรรมการและผู้บริหารที่ไม่ปฎิบัติตามมาตรา 89/7 ไว้ใน 281/2 ว่า กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทผู้ใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ค่าปรับ ดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท
ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทําโดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ค่าปรับ ดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง