ย้อนรอยการเมืองบีบ "ทศพร ศิริสัมพันธ์" พ้นประธานบอร์ด ปตท.

17 ต.ค. 2566 | 15:25 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2566 | 15:29 น.
1.5 k

ย้อนรอยการเมืองพยายามบีบ "ทศพร ศิริสัมพันธ์" พ้นประธานบอร์ด ปตท. หลังล่าสุดนายทศพรยื่นคำร้องถึง กลต. ขอให้การตีความข้อบังคับของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างเคร่งครัด

"ทศพร ศิริสัมพันธ์" ชื่อนี้กลับมาเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากที่นายทศพร ส่งคำร้องถึงถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เรื่อง การตีความข้อบังคับของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างเคร่งครัด ท่ท่ามกลางกระแสข่าวผู้มีอำนาจฝ่ายการเมืองบีบนายทศพร ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ บอร์ด ปตท.

ทั้งนี้ ประเด็นที่นายทศพรร้องถึง กลต. ระบุว่าว่า ตามสำเนาบันทึกข้อความฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ถึงประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อาจมีปัญหากรณีการตีความข้อบังคับของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผิดไปจากที่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัดอาจทำให้การกระทำต่างๆที่เกิดจากการตีความข้อบังคับที่ผิดกฎหมาย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและต่อเนื่อง

โดยก่อนหน้านี้ (บอร์ด) ปตท. ที่มีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงปตท. ทดแทนตำแหน่งเดิมที่จะเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 

แต่ปรากฎว่าที่ประชุมได้ถอนวาระดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด ท่ามกลางกระแสข่าวผู้มีอำนาจฝ่ายการเมืองต้องการเปลี่ยนตัวประธานกรรมการ และกรรมการ ปตท. ชุดใหม่ เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลชุดใหม่

อย่างไรก็ดี กระแสข่าวการปลด "ทศพร ศิริสัมพันธ์" ออกจากตำแหน่ง ประธานกรรมการบอร์ด ปตท. ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น 

"ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปย้อนรอยความพยายามในการปลดนายทศพรออกจากตำแหน่งดังกล่าว

ทศพรไขก๊อกลาออก

วันที่ 12 ต.ค. 65 ทศพร ศิริสัมพันธ์ ได้ทำหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระและประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2565 

แต่การลาออกดังกล่าวไม่เป็นผล เนื่องจาก  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตอนนั้น ไม่อนุมัติให้นายทศพรลาออก

หนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. ที่มีลายเซ็นของนายทศพร

นายทศพรนั้น ถือว่าเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่พล.อ.ประยุทธ์ให้ความไว้วางใจ และเคยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ที่ย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อนายทศพรเกษียนณอายุแล้วพล.อ.ประยุทธ์ได้แต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

ซึ่งนายทศพรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการ ปตท. โดยมีผลมาตั้งแต่งันที่ 8 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา จากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ในการประชุมนัดพิเศษคครั้งที่ 4/2565

จากกรณีการยื่นหนังสือลาออกดังกล่าวของนายทศพรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ซึ่งได้ความว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้นายทศพร ต้องขอลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. ครั้งนั้น มาจากแรงกดดันทางการเมืองเป็นหลัก เนื่องจากนายทศพร นั้น ถือว่าอยู่คนละขั้วกับผู้ที่มีอำนาจทางกรเมืองในขณะนั้น จึงไม่อาจทำงานต่อไปได้ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว

"นายทศพร มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับคณะทำงานของรัฐบาล  และถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งต่างๆ"

ทศพรยังนั่งประธานบอร์ดปตท. ขับเคลื่อนธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมบอร์ดปตท. วันที่ 27 ต.ค. 65 นายทศพร ยังคงทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมเพื่อพิจารณาวาระการดำเนินการต่างๆ ตามปกติ โดยที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า ปตท. ไม่ได้รับหนังสือลาออกจากนายทศพรตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

จนกระทั่งการประชุม บอร์ด ปตท. ล่าสุด ซึ่งนายทศพร ยังทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงปตท. ทดแทนตำแหน่งเดิมที่จะเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 แต่ปรากฎว่าที่ประชุมได้ถอนวาระดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด