zero-carbon

พพ.รุกช่วยปชช.พื้นที่โครงการพระราชดำริ 77 แห่งเข้าถึงพลังงานสะอาด

    พพ.รุกช่วยปชช.พื้นที่โครงการพระราชดำริ 77 แห่งเข้าถึงพลังงานสะอาด ลดการใช้พลังงาน มุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ เผยครัวเรือนได้รับผลประโยชน์กว่า 10,000 ครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 62 ล้านบาทต่อปี

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า พพ.ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเพื่อตอบสนองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2564 ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนและเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเป็นพื้นที่ห่างไกลมีการใช้พลังงานทดแทน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ยกระดับผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โครงการฯ ดังกล่าว พพ.ได้ให้การสนับสนุนผ่านกรมป่าไม้ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้ดำเนินการในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.เชียงราย จ.ลำปาง  จ.แพร่  จ.น่าน จ.สระบุรี และ จ.เลย รวมทั้งหมด 77 โครงการ โดยแบ่งตามพื้นที่โครงการ ดังนี้ 

  • พื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง จำนวน 29 โครงการ 
  • พื้นที่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) จำนวน 47 โครงการ 
  • พื้นที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดำริฯจำนวน 1 โครงการ 

รวมวงเงินสนับสนุนประมาณ 347 ล้านบาท 

พพ.รุกช่วยปชช.พื้นที่โครงการพระราชดำริ 77 แห่งเข้าถึงพลังงานสะอาด

สำหรับเทคโนโลยีที่ให้การสนับสนุน อาทิ ระบบสูบน้ำพลังงานอาทิตย์ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับห้องเย็น ระบบผลิตไฟฟ้า mini grid แบบรวมศูนย์ ระบบผลิตไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพ เตาชีวมวล เตาย่างไก่ เตานึ่งก้อนเห็ด เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้งเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งได้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 70% 

ดร.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า จากการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว จะช่วยให้ประชาชนและเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 10,000 ครัวเรือน กว่า 53,000 คน  ได้รับประโยชน์สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากค่าไฟและค่าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดีเซล LPG ฟืน ถ่านไม้ เกิดผลประหยัดประมาณ 1.52 ktoe ต่อปี คิดเป็นเงินกว่า 62 ล้านบาทต่อปี เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 78 ล้านบาทต่อปี 

ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ประมาณ 4,700 ตันต่อปี จากการมีน้ำสำหรับพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น มีผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้นจากเทคโนโลยีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ แต่เดิมมีแหล่งน้ำแต่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงไม่สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำมาเพาะปลูกได้ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้นจากเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก 

และจากการถนอมผลผลิตทางการเกษตรทำให้ไม่เน่าเสียจากเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับห้องเย็น มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นจากการที่มีไฟฟ้าใช้โดยเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้า mini grid แบบรวมศูนย์ และมีความสะดวกในการ เดินทางสัญจร หรือการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ในเวลากลางคืนจากเทคโนโลนีระบบผลิตไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ