zero-carbon

"คาร์บอนเครดิต" ส่งผลยังไงต่อทิศทางกำไรของ บจ. ไทยอ่านเลย

    "คาร์บอนเครดิต" ส่งผลยังไงต่อทิศทางกำไรของ บจ. ไทยอ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ให้ข้อมูลเชิงลึก ระบุบริษัทไทยยังไม่พร้อมสำหรับการใช้ข้อบังคับจริงจังการปล่อยคาร์บอน

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ให้ข้อมูลเชิงลึกของคาร์บอนเครดิต (Carbon credit) และผลกระทบต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า ต้นกำเนิดของคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันกระแสการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) ได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ โดยที่คาร์บอนเครดิตถือเป็นเครื่องมือที่คาดจะช่วยให้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง

ในขณะที่ ขนาดตลาดคาร์บอนเครดิตโลก ประเมินว่าจะมีอัตราเพิ่มขึ้น CAGR ที่ 21.1% ในปี 2566-71 จากความต้องการของบริษัทต่างๆในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) มีมากขึ้น โดยงานวิจัยหลายแห่งประเมินว่าอุปทานคาร์บอนเครดิตทั่วโลกยังไม่สามารถตามทันกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว

ทั้งนี้ พัฒนาการของคาร์บอนเครดิตในโลกและประเทศไทยนั้น ในประเทศพัฒนาแล้ว (EU ,จีน ,US) มีมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษที่ชัดเจนและเคร่งครัดแบบภาคบังคับ 

ขณะที่อีกนานาประเทศกำลังพิจารณาแผนดังกล่าวเช่นกัน แต่ที่ประเทศไทยถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและเป็นแบบภาคสมัครใจเท่านั้น โดยมีมาตรฐานคาร์บอนเครดิตอย่าง T-VER 
 

ดังนั้น ทั้งปริมาณและราคา "คาร์บอนเครดิต" ในไทยจึงยังถูกกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างมากเช่น ระบบซื้อขายสิทธิ์ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในยุโรป (EU ETS) ปัจจุบันราคา Carbon credit ในไทยเฉลี่ยอยู่ที่Bt40/tCO2e เทียบกับ €105/tCO2e ในยุโรป

อย่างไรก็ตามคาดการณ์กันว่าในไทยมีอุปสงค์คาร์บอนเครดิตที่~182- 197MtCO2e ต่อปีขณะที่อุปทานมี6.857MtCO2e ต่อปีโดยในเรื่องนี้หากมีการเก็บภาษีคาร์บอน ผู้ที่ก่อ มลพิษจะมีต้นทุนดำเนินงานสูงขึ้น แต่มีผู้ได้รับประโยชน์จากการที่มี credits ส่วนเกินอยู่

ฝ่ายวิจัยประเมินผลกระทบเชิงลบต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนในไทย ภายใต้สมมติฐานที่หากกรมสรรพสามิต บังคับใช้ภาษีปล่อยคาร์บอน (คาดจะชัดเจนในหลักการปี 2566) และ/หรือบริษัทสมัครใจที่จะชดเชยการปล่อยคาร์บอนเอง 

โดยฝ่ายวิจัยศึกษาการปล่อยกระจายก๊าซเรือนกระจกในแต่ละหมวดอิงตามสัดส่วนของ GDP และแบ่งสมมติฐานราคาคาร์บอนเป็น 3 scenarios เพื่อคำนวณผลกระทบต่อกำไรในแต่ละหมวด 

ซึ่งสรุปแล้วพบว่า 3 หมวดอุตสาหกรรมที่ปล่อย GHG ออกมามากที่สุดคือ หมวดสาธารณูปโภค (65-103tCO2e) ตามด้วยหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ (27-34tCO2e) และหมวดวัสดุก่อสร้าง (17-18tCO2e) แต่ผลกระทบต่อกำไรของแต่ละกลุ่มฯดูจะแตกต่างกันไป

จากการวิเคราะห์ชี้ว่าผลกระทบของคาร์บอนเครดิตที่มีต่อกำไรบริษัทฯ คาดว่าจะส่งผลลบต่อหมวดสาธารณูปโภคสูงที่สุด รองลงมาคือหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ และอันดับสามหมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร

ฝ่ายวิจัยจึงคงน้ำหนักกลุ่มโรงไฟฟ้า Neutral ผลกระทบของ "คาร์บอนเครดิต" ยังถือว่าไม่มีนัยสำคัญต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยในปัจจุบันจากการควบคุมที่เป็นเพียงภาคสมัครใจเท่านั้น

แต่เมื่อใดก็ตามที่กฎข้อบังคับจริงจังและเข้มงวดขึ้นต่อผู้ที่ปล่อยมลพิษ อาจส่งให้ความสามารถทำกำไรจะน้อยลง จากการที่ต้องลดมลพิษในกระบวนการผลิตหรือซื้อ Carbon credit เพื่อชดเชย 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าปัจจุบันบริษัทไทยจะยัง ไม่พร้อมสำหรับการใช้ข้อบังคับที่จริงจังต่อการปล่อยคาร์บอน โดยน่าจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งสำหรับการปรับตัวเพื่อลดการปล่อยมลพิษในการผลิต นอกเหนือไปจากการดำเนินธุรกิจแบบปกติ