zero-carbon
662

เปิด 5 เทรนด์พลังงานสะอาดน่าจับตาปี66 หนุนธุรกิจปรับตัวมุ่งNet Zero

    เปิด 5 เทรนด์พลังงานสะอาดน่าจับตาปี66 หนุนธุรกิจปรับตัวมุ่งNet Zero เผยมูลค่าตลาดปี 77 รวม 6.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี บ้านปู เน็กซ์คาดอนาคตเทคโนโลยีพลังงานจะถูกพัฒนาให้หลากหลาย ฉลาด และสะอาดยิ่งขึ้น

รายงานจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เปิดเผยว่า หากทั่วโลกเดินหน้าพิชิตภารกิจ Net Zero ตามคำสัญญาภายในปี 2030 ตลาดสำหรับเทคโนโลยีการผลิตพลังงานสะอาด เช่น ระบบโซลาร์ พลังงานลม แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กโทรไลเซอร์สำหรับผลิตไฮโดรเจน ฯลฯ จะมีมูลค่ารวมประมาณ 6.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี

ทั้งนี้ บ้านปู เน็กซ์ มองว่าในอนาคตเทคโนโลยีพลังงานจะถูกพัฒนาให้หลากหลาย ฉลาด และสะอาดยิ่งขึ้น (Greener & Smarter) ซึ่ง 5 พลังงานสะอาดที่น่าจับตามอง มีดังนี้

ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) สร้างเสถียรภาพการจัดการไฟฟ้า

BESS เป็นระบบกักเก็บพลังงานที่ใช้แบตเตอรี่มาเป็นองค์ประกอบ ทำหน้าที่กักเก็บไฟฟ้าส่วนเกินและดึงกลับมาใช้ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง โดยจุดเด่นของ BESS คือ ช่วยลดความผันผวนของไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รักษาเสถียรภาพ และเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการไฟฟ้า รวมไปถึงมีความจุพลังงานสูง สามารถติดตั้งได้ทุกพื้นที่ เคลื่อนย้ายง่าย และเชื่อมต่อการทำงานได้ทั้งระบบไฟฟ้าในครัวเรือนและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยบ้านปู เน็กซ์ได้นำ BESS ของดูราเพาเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกและผู้นำด้านระบบแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนระดับโลก ไปใช้ในระบบโซลาร์ที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อให้สามารถใช้ไฟฟ้าภายในไซต์ได้อย่างเสถียรตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
 

เซลล์แสงอาทิตย์ผสานวัสดุอาคาร (Building Integrated Photovoltaics: BIPV) นวัตกรรมขับเคลื่อนอาคารคาร์บอนต่ำ

  • BIPV แตกต่างจากระบบโซลาร์ที่หลายคนคุ้นเคย โดยเป็นนวัตกรรมที่นำแผงโซลาร์มาออกแบบ สร้าง และติดตั้งไปในส่วนต่าง ๆ ของอาคาร เช่น หลังคา แนวกันสาด หน้าต่าง ฯลฯ ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยให้อาคารผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เอง ช่วยลดค่าไฟฟ้า ป้องกันความร้อน ลดเสียงรบกวน และลดการปล่อย CO2 ได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยยกระดับสู่อาคารคาร์บอนต่ำ หรืออาคารสีเขียว 

เปิด 5 เทรนด์พลังงานสะอาดน่าจับตาปี 66

พลังงานลมนอกชายฝั่ง (Offshore Wind) แหล่งพลังงานที่ไม่มีวันหมด

  • หลายประเทศวางแผนจะพัฒนาการใช้พลังงานลมเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมด ไม่มีค่าเชื้อเพลิง มีศักยภาพในการลดการปล่อย CO2 ได้มากที่สุด ช่วยสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งพลังงานลมนอกชายฝั่งมีความเร็วและกำลังลมแรงกว่าบนฝั่ง ทำให้สามารถผลิตพลังงานได้มากกว่า ปัจจุบันเริ่มมีการเปิดโครงการฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งในหลาย ๆ ประเทศ เช่น เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น 

Power-to-X หนทางสู่พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรม

  • Power-to-X เป็นเทคโนโลยีในการเปลี่ยนไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตจากพลังงานสะอาดต่าง ๆ อย่างพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ ไปเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบอื่น เช่น ไฮโดรเจนสีเขียว แอมโมเนีย รวมถึงวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น โดยต่อยอดนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ระบบขนส่งและการเดินทาง ระบบผลิตความเย็นแบบรวมศูนย์ (District Cooling System) และอีกมากมาย ถือเป็นเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มโอกาสในการยกระดับธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น 

ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) อีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญในการลดคาร์บอน

  • ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นจากพลังงานหมุนเวียน ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก สามารถนำไปปรับใช้ได้ในหลายภาคส่วน เช่น ใช้เป็นวัตถุดิบในการกลั่นน้ำมัน การผลิตปุ๋ย หรือเหล็ก หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและการขนส่ง ปัจจุบันต้นทุนในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวยังคงสูงกว่าไฮโดรเจนประเภทอื่น ๆ แต่เชื่อว่าในอนาคตต้นทุนการผลิตจะลดลงและไฮโดรเจนสีเขียวจะเป็นเชื้อเพลงสีเขียวที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย