zero-carbon

EIC ชี้ตลาด "คาร์บอนเครดิต" ไทยยังมีความเสี่ยง เพราะอะไรอ่านที่นี่

    EIC ชี้ตลาด "คาร์บอนเครดิต" ไทยยังมีความเสี่ยง เพราะอะไรอ่านที่นี่ ทั้งด้านความต้องการจากความไม่แน่นอน ด้านการขายเหตุตลาดของไทยเป็นไปในลักษณะที่เหมาะกับผู้ลงทุนรายใหญ่มากกว่าผู้ลงทุนรายย่อย

นางสาวณัฐนันท์ อภินันท์วัฒนกูล นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยกำลังเป็นที่จับตามอง แม้ว่าบริษัทต่าง ๆ จะมุ่งดำเนินการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

อย่างไรก็ดี ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบางส่วนที่ไม่สามารถลดได้อยู่ คาร์บอนเครดิตจึงเป็นกลไกสำคัญในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net zero 

ทั้งนี้ ภายใต้กระแสที่มาแรงของ "ตลาดคาร์บอนเครดิต" ไทย ซึ่งเป็นตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ยังมีความเสี่ยงของตลาดที่ต้องเผชิญในหลายประการ ก่อนที่ผู้ลงทุนจะทำการซื้อ ขายคาร์บอนเครดิต โดยมีความเสี่ยงทั้งทางด้านอุปสงค์ อุปทาน ราคา และช่องทางในการซื้อ ขาย เป็นต้น

  • ความเสี่ยงทางด้านความต้องการ (Demand) จากความไม่แน่นอน   เนื่องมาจากคาร์บอนเครดิตที่มีลักษณะเป็นภาคสมัครใจไม่ใช่ทางเลือกแรกที่ผู้ซื้อใช้ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มุ่งเน้นในด้านการทำโครงการลดการปล่อยคาร์บอนก่อน 
  • ความเสี่ยงทางด้านการขาย (Supply) เนื่องจาก "ตลาดคาร์บอนเครดิต" ของไทยเป็นไปในลักษณะที่เหมาะกับผู้ลงทุนรายใหญ่มากกว่าผู้ลงทุนรายย่อย และยังมีความไม่แน่นอน ความไม่สม่ำเสมอของปริมาณการซื้อขาย ประกอบกับตลาดยังอยู่ในช่วงการพัฒนา จึงทำให้การซื้อขายเป็นไปในลักษณะผู้ซื้อ และผู้ขายตกลงกันเอง 
  • ความเสี่ยงทางด้านราคา เนื่องจากตลาดยังอยู่ในช่วงการพัฒนาไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน เช่น และตลาดคาร์บอนไทยยังไม่มีระบบในการรักษาเสถียรภาพของ Demand และ Supply ดังนั้น ความผันผวนด้านราคา หรือโอกาสที่ราคาคาร์บอนจะตกต่ำจึงมีความเป็นไปได้

"ผู้มีความสนใจในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ควรศึกษาข้อมูลประกอบการลงทุนด้านคาร์บอนเครดิตด้วยวิธีต่าง ๆ และเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น พร้อมกับมองหาทางเลือกอื่นเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Net zero ที่ยั่งยืนต่อไป"