"ปตท.-กรุงไทย"ผุดนวัตกรรมอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยง"คาร์บอนเครดิต"

05 เม.ย. 2566 | 10:34 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2566 | 10:34 น.

"ปตท.-กรุงไทย"ผุดนวัตกรรมอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยง"คาร์บอนเครดิต" ระบุเป็นครั้งแรกในประเทศไทยตอบโจทย์องค์กร Net Zero หนุนกลยุทธ์ ปรับ เปลี่ยน ปลูก ที่ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2040

นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. และบริษัท PTT International Trading Pte Ltd ประเทศสิงคโปร์ (PTTT ถือหุ้น 100% โดย ปตท.)ได้ดำเนินการร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 

ทั้งนี้ เพื่อทำสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Credit Linked Derivatives ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ของตลาดทุนไทย ที่ธนาคารได้ออกแบบและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการบริหารความเสี่ยงทางการเงินของ ปตท. 

รวมถึงเป็นการส่งเสริมเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งสองบริษัท นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างองค์กรในประเทศ โดย PTTT ประเทศสิงคโปร์ จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาคาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานให้เพื่อใช้สำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ในอนาคต นอกจากนี้ ข้อตกลงยังครอบคลุมถึงการบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ของ ปตท. 

อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่มีความผันผวนอันเนื่องมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อและนโยบายการบริหารจัดการดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ ปตท. มีนโยบายการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนทางการเงินด้วยวิธี Natural Hedge รวมทั้งมีการใช้เครื่องมือการบริหารความเสี่ยงเมื่อมีจังหวะและสถานการณ์ที่เหมาะสม 
 

โดยธุรกรรมดังกล่าว  นี้จะเป็นครั้งแรกที่มีการเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมของตลาดทุนเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการทางการเงินให้กับองค์กรตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนให้ทั้ง 3 องค์กรมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) 

ปตท.-กรุงไทยผุดนวัตกรรมอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงคาร์บอนเครดิต
         
นางสาวพรรณนลิน กล่าวอีกว่าความร่วมมือ Carbon Credit Linked Derivatives ครั้งดังกล่าว จะมีส่วนสนับสนุนกลยุทธ์ ปรับ เปลี่ยน ปลูก ของ ปตท. ที่ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2040 และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ ด้วยการทำงานเชิงรุก ปรับกระบวนการผลิต ค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ 

อีกทั้งยังเปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมและสร้าง EV Ecosystem ในประเทศ รวมทั้งธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน  ตลอดจนเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็น ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2030 อีกด้วย

นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของ United Nations Development Programme (UNDP) โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทิศทางที่ผู้บริโภค และธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ  
 

"ล่าสุดธนาคารร่วมมือกับปตท. และบริษัท PTTT ประเทศสิงคโปร์ ในการเข้าทำสัญญาอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน (Derivatives) ที่เชื่อมโยงกับคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกในประเทศไทย"

นอกจากนี้ข้อตกลงยังครอบคลุมถึงการบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นพัฒนาและการเป็นผู้นำตลาด ESG Financial Solution ของธนาคาร ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ

และสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)
         
นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า PTT International Trading Pte Ltd (PTTT) สามารถเข้าถึงและขยายขอบเขตการค้าคาร์บอนเครดิตได้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากล

สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เชื่อมโยงในธุรกรรมครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาตลาดสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เชื่อมโยงกับอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินหรือผลิตภัณฑ์ทางการค้าอื่นต่อไป